0.00 ฿
The Story About Us!
เราทำการเกษตรที่แตกต่าง
อ.กนก เหวียนระวี สอนผมเสมอว่า
“หากนำความรู้การออกแบบภูมิลักษณ์และสิ่งแวดล้อมนี้
ไปประยุกต์และถ่ายทอดไปสู่การเกษตรได้
จะพัฒนาการเกษตรและช่วยรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้มาก
เพราะเกษตรกรเป็นผู้ที่ใช้แผ่นดินอยู่มากที่สุด
อีกทั้งยังใกล้ชิดและใช้ประโยชน์โดยตรงจากธรรมชาติ”
เราจึงนำความรู้ด้านการออกแบบภูมิลักษณ์และสิ่งแวดล้อมนี้
มาผสมผสานกับการทำเกษตร ออกแบบสวน”นิทานบ้านไร่”นี้ให้เป็น “ภูมินิเวศเกษตร”
อะไรคือ “ภูมินิเวศเกษตร”
ภูมินิเวศเกษตร (Agroecology) คือ การเกษตรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันของ การทำการเกษตรและการอยู่ร่วมกันของทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
นิทานบ้านไร่ BOKUJOU
พื้นที่ผสมผสานที่ออกแบบบนพื้นฐานความคิดของการใช้งานโดยคำนึงถึงระบบนิเวศและความหลากหลายทางธรรมชาติ เพื่อให้ “คน” สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สวนเกษตร แต่ต้องรองรับปัจจัยอื่นๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราค้นคว้า วางแผน และออกแบบ ใช้ศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์เกษตร นิเวศวิทยา และการออกแบบวางผัง เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็น “ภูมินิเวศเกษตร”
เราเริ่มต้นจากการพัฒนาที่นารกร้างที่ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียวในปี พ.ศ.2556 ศึกษาสภาพพื้นที่ทั้งกายภาพและชีวภาพ ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเกษตรกรรม และการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิเคราะห์ สังเคราะห์ กำหนดประเภทและขนาดพื้นที่ใช้สอย กำหนดแผนระยะต่างๆ ในการดำเนินงานก่อสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับทุนและเวลา รวมถึงรองรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สิ่งแรกที่เราทำคือ ขุดแหล่งกักเก็บน้ำ ปรับระดับพื้นที่ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูคุณภาพดิน และดำเนินแผนการสร้างภูมิอากาศภายในพื้นที่ (microclimate) ขึ้นมาใหม่ เราให้ความสำคัญกับพืชพรรณอย่างมาก โดยเริ่มจากการปลูกกล้าไม้ต้นประเภทไม้เหนือเรือนยอดและไม้เรือนยอด ได้แก่ ยางนา งิ้วแดง เลี่ยนป่า รวมถึงไม้โตเร็วหรือไม้เบิกนำเพื่อสร้างร่มเงา และความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ เช่น ขี้เหล็กไทย กล้วย มะขามเทศ เป็นต้น นอกจากนี้เรายังคิดถึงหลักการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ต่างๆ ในระบบนิเวศ ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างที่อยู่ แต่รวมถึง แหล่งอาหาร แหล่งขยายพันธุ์ และพื้นที่หลบภัย ทำให้พืชพรรณที่เราปลูกในพื้นที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและจำนวน ผสมผสานทั้งพืชพรรณที่ให้มูลค่าในทางการเกษตรและคุณค่าทางด้านสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเราคำนึงถึงสภาพที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของพืชพรรณชนิดต่างๆ และออกแบบตำแหน่งด้วยหลักการสร้างสุนทรียภาพและความสวยงามให้เกิดกับพื้นที่แห่งนี้ด้วย
ในปี พ.ศ. 2557 ระยะเวลา 1 ปี ไม้ต้นต่างๆ ยังไม่สามารถสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่ได้ เพราะเราเลือกใช้กล้าไม้ที่มีความสูงเริ่มต้นตั้งแต่ 60- 75 เซนติเมตร จนถึง 2-2.5 เมตร ซึ่งเป็นกล้าที่เพาะจากเมล็ดทั้งหมด เพราะเชื่อมั่นว่าไม้ต้นโดยเฉพาะไม้เรือนยอดและไม้เหนือเรือนยอด จะสามารถเติบใหญ่สมบูรณ์และแข็งแรงต่อไปในอนาคตได้หากมีระบบรากที่แข็งแรง เราใช้หลักการปลูกให้มากที่สุดเท่าที่พื้นที่จะรองรับได้ และไม่กระทบกับแผนการใช้พื้นที่ที่วางไว้ ผลผลิตในปีแรกจึงเป็นข้าว ไข่เป็ด และพืชผักริมรั้ว ซึ่งทั้งหมดไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น จึงมีความปลอดภัยจนแม้แต่เจ้าของที่นาข้างเคียงนำข้าวสารของตน (ที่ปลูกเลี้ยงระบบเคมีเกษตร) มาขอแลกกับข้าวจากผืนนาของเรา ผลจากการปรับปรุงดินโดยใช้เพียงแค่ปุ๋ยคอก ส่งผลให้ในปีนั้นต้นข้าวเจริญเติบโตดีมาก และมีเมล็ดข้าวมากเกินพอที่จะเก็บไว้เป็นเชื้อพันธุ์ในปีต่อๆ ไป เราไม่เผาตอซังข้าว ไม่พลิกหน้าดิน แต่ให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นปุ๋ยให้กับการปลูกในรอบต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแผนระยะแรกที่ผังถูกออกแบบไว้เพื่อรองรับกับกิจกรรมที่ไม่ต้องการการดูแลมาก เนื่องด้วยมีภาระอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าจึงไม่สามารถทุ่มเทเวลาให้กับสวนได้อย่างเต็มที่
แต่ในปี พ.ศ. 2559 จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เราจึงเริ่มเปลี่ยนผังระยะที่สองซึ่งสำรองไว้ยามฉุกเฉิน และสอดคล้องกับแผนกิจกรรมที่วางไว้ เราขุดขยายพื้นที่กักเก็บน้ำ นำดินที่ได้จากการขุดบ่อน้ำปรับระดับพื้นที่โดยขุดลอกหน้าดินนาเดิมขึ้นมาไว้ชั้นบนเพราะอุดมไปด้วยสารอาหารจำนวนมากจากการปลูกนาข้าว และปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นสวนเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้เหนือเรือนยอดและไม้ระดับต่างๆ เพิ่ม รวมถึงไม้ผลที่จะเป็นพืชหลักของพื้นที่ด้วย เพราะพื้นที่เริ่มมีร่มเงาจากไม้ต้นที่ปลูกทิ้งไว้ตั้งแต่ปีแรก เปรียบเสมือนกับมีกลุ่มพืชพี่เลี้ยงที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นและช่วยอนุบาลกล้าไม้ทำให้กล้าไม้โตเร็วมากกว่าและมีอัตราการรอดสูงกว่าปลูกในสภาพพื้นที่โล่งแจ้ง
เราใช้พื้นที่ของเราเป็นห้องทดลองทางธรรมชาติ (Pre-experimental site) คอยสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลง และความผิดปกติต่างๆ เก็บข้อมูล เพื่อต่อยอดเป็นการทดลองโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ในอนาคต เช่น กลุ่มพืชโตเร็ว พืชพี่เลี้ยง พืชคลุมดินทางธรรมชาติที่ไม่ต้องดูแลมาก ทดลองปลูกพืชต่างถิ่นระดับภูมิภาคในพื้นที่เดียวกัน พืชทนโรคและแมลงรบกวน Resilient landscape ความลาดชันของบ่อเพื่อป้องกันการทลายของตลิ่ง บทบาทของพืชริมน้ำต่อระบบนิเวศ การทดสอบวิธีที่ช่วยในการกักเก็บน้ำของบ่อดิน ระบบนิเวศควบคุมยุง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หลักการคิดเรื่อง “ลูกยักษ์โตเร็วเสมอ” คือการปลูกไม้เหนือเรือนยอดจากกล้าไม้ที่แข็งแรง เราเปรียบเทียบผลกับสถานที่สาธารณะแห่งหนึ่งที่เลือกปลูกต้นยางนาจากไม้ล้อมความสูงประมาณ 5-6 เมตร ในระยะเวลาเทียบเคียงกันผ่านไป 3 ปี ต้นยางนาที่สวนของเราเริ่มมีความสูงมากกว่าและสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่ยางนาจากไม้ล้อมไม่สูงขึ้นอีกเลย หรือต้นงิ้ว เป็นอีกต้นหนึ่งที่มีอัตราในการโตเร็วมาก จากกล้าสูงประมาณ 1.5 เมตร ขณะปลูก ผ่านฝนแรกสูงขึ้นไปอีกเป็น 2.5 เมตร เมื่อผ่านไปสองปีสูง 6 เมตร ปีที่สามสูงประมาณ 9 เมตร จนกระทั้งปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) มีความสูงมากกว่า 13 เมตร
นอกจากนี้ในแง่ของระบบนิเวศที่เราสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พบว่า ในปีแรกๆ มีหนูนาวิ่งให้เห็นในพื้นที่เสมอ ต่อมาเราก็พบงูบ่อยครั้ง ทั้งงูแสงอาทิตย์ งูเขียว เป็นต้น แต่หนูเริ่มหายไป จนกระทั้งไม้ต้นต่างๆ เริ่มสูงขึ้นมากกว่า 5 เมตร เราพบนกเหยี่ยว (ไม่ทราบชนิด) และงูก็เริ่มพบเห็นน้อยลง จะมีงูเขียวปรากฏให้เห็นบ้างบางครั้งในช่วงหน้าฝน แต่หนูไม่พบอีกเลย รวมถึงแมลงชนิดต่างๆ ที่มีมากขึ้นทั้งชนิดและจำนวน แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงปีที่เปลี่ยนแปลง
ในปี พ.ศ.2562 เราเริ่มปลูกเมล่อนภายใต้แนวคิดเกษตรอัฉริยะ แต่ยังคงอยู่ในกรอบของภูมินิเวศเกษตร และมีการใช้ชันโรง(ผึ้งชนิดหนึ่ง) เข้ามาช่วยผสมเกสร และเริ่มเปิดพื้นที่เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและดูงานเกี่ยวกับระบบการเกษตรแบบภูมินิเวศเกษตรด้วย เพื่อหวังว่าองค์ความรู้ต่างๆ ที่เราค้นพบขึ้นในสวนนิทานบ้านไร่แห่งนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุนชนเกษตรและผู้คนทั่วไปให้ได้รับทราบว่าการเกษตรที่อยู่ร่วมและคอยบูรณะระบบนิเวศสามารถเกิดขึ้นได้จริง
GIVE MORE GET MORE
ผมเคยเป็นโค้ชซอฟท์บอล ระดับเยาวชน ของจังหวัด
ปี 2555-2557 โค้ชซอท์ฟบอล เยาวชน จ.เชียงใหม่
ปี 2559-2560 โค้ชซอท์ฟบอล เยาวชน จ.ลำพูน
ปัจุบัน ผมเป็นที่ปรึกษาให้กับชมรมซอท์ฟบอล
โรงเรียน เฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา จังหวัดลําพูน
ในมุมมองของผม
การแข่งกีฬา มีความคล้ายกับการจัดการปัญหาของชีวิตจริง มีการสู้กับความกดดัน อารมณ์ ความหวั่นไหวของจิตใจตัวเอง เพื่อผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้
ผมจึงใช้กีฬาซอท์ฟบอลเป็นตัวช่วยในการพัฒนาคนในด้านจิตวิทยา