พระเศรษฐี นวโกฏิ

เศรษฐี สมัยพุทธกาล

เศรษฐีเป็นตำแหน่งที่ราชาเจ้าแคว้น พระราชทานให้แก่ผู้มีทรัพย์ เป็นพ่อค้าวานิชที่มีผลต่อเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของท้องพระคลัง แต่ในพระคาถามุ่งหวังเพียงอ้างความดีของท่านผู้ใจบุญกลุ่มหนึ่ง ที่ปรากฏนามในพระชาดก ซึ่งบริจาคทานอย่างมโหฬาร หรือมีบารมีมาก สามารถบันดาลฝนโบกขรพรรษ สงเคราะห์แก่บริวารได้ เพื่อหวังอ้างบารมีของท่านเหล่านั้น ให้ส่งผลต่อผู้บูชา บุคคลเหล่านั้นทั้งที่อยู่ร่วมสมัยพุทธกาล และสมัยของอดีตพุทธะ มีชื่อว่า ธนัญชัย ยะสะ สุมนะ ชฏิละ อนาถปิณฑิกะ เมณฑกะ โชติกะ สุมังคละ มัณฑาตุ เวสสันตร

รวมเป็น ๑๐ ท่าน ในบางฉบับ มี ๑๑ ท่าน และในบทคาถานี้ ไม่มีนาง วิสาขามหาอุบาสิกา (ไม่มีชื่อในคาถานี้) ทำให้มีการคัดลอกผิดๆ มาตลอดหลายปี ผู้รู้ได้ถือเอาคตินี้มาสร้างเป็นพระเศรษฐี ให้มีพระพักตร์ทั้งหมด ๙ พระพักตร์ แทนคุณของผู้บำเพ็ญทานในอดีต โดยรับอิทธิพลรูปแบบของพุทธมหายาน ทำให้มีหลายพระพักตร์

ธนัญชัยเศรษฐี

บิดาของ นางวิสาขา มหาอุบาสิกาที่มีชื่อเสียงโด่งดังสมัยพุทธกาล ได้ให้โอวาทแก่นางวิสาขาก่อนเข้าไปอยู่ในบ้านสามี รู้จักกันว่า โอวาท ๑๐ ของเศรษฐีธนัญชัย

๑. อนฺโต อคฺคิ  พหิ  นีหริตพฺโพ     ไฟในอย่าพึงนำออก

๒. พหิ อคฺคิ  อนฺโต  น  นีหริตพฺโพ     ไฟนอกอย่าพึงนำเข้า

๓. ททนฺตสฺเสว ทาตพฺพํ     พึงให้แก่บุคคลที่ให้ คือ (คนที่ยืมของเราไปแล้วส่งคืน  ควรให้)

๔. อทนฺตสฺส น  ทาตพฺพํ     ไม่พึงให้แก่บุคคลที่ไม่ให้ คือ (คนที่ยืมของเราไปแล้วไม่ส่งคืน  ก็ไม่ควรให้)

๕. ททนฺตสฺสาปิ อทนฺตสฺสาปิ  ทาตพฺพํ     พึงให้แก่บุคคลที่ให้และบุคคลที่ไม่ให้ คือ (ให้เด็ดขาดเลย  ไม่ปรารถนาจะเอากลับคืน)

๖. สุขํ นิสีทิตพฺพํ     พึงนั่งให้เป็นสุข

๗. สุขํ ภุญฺชิตพฺพํ     พึงบริโภคให้เป็นสุข

๘. สุขํ นิปชฺชิตพฺพํ     พึงนอนให้เป็นสุข

๙. อคฺคิ ปริจริตพฺโพ     พึงบำเรอไฟ

๑๐. อนฺโต เทวตา  นมสฺสิตพฺพา     พึงนอบน้อมเทวดาภายใน

ข้อ ๑-๒  ไฟใน ไฟนอก  ได้แก่เรื่องราวต่าง ๆ อันเป็นเหตุจะนำความเดือดร้อนมาให้แก่ครอบครัว   ไฟในได้แก่เรื่องภายในบ้าน   ไฟนอกได้แก่เรื่องภายนอกบ้าน  นำเข้านำออกได้แก่ ไม่ควรนำเรื่องภายในไปพูดข้างนอก ไม่นำเรื่องภายนอกมาพูดภายในบ้าน ข้อ ๓-๔  ให้ใน ๒ ข้อนี้ได้แก่ให้ยืม   ผู้ใดยืมของไปแล้ว  ส่งคืนควรให้ยืม  ผู้ใดยืมไปแล้วไม่ส่งคืน  ไม่ควรให้ยืม  ข้อ ๕  ให้ใน  ข้อนี้ได้แก่การให้เด็ดขาด  ไม่ควรปรารถนาจะเอากลับคืน  ประสงค์เอาการให้ด้วยความสงเคราะห์หรืออนุเคราะห์  ซึ่งจัดเป็นการบุญกุศล ฯ ข้อ ๖  ได้แก่การนั่งในที่ควรนั่ง  คือไม่นั่งในสถานที่ควรจะยืน  โดยความก็คือไม่นั่งกีดและเกะกะใคร ๆ ข้อ ๗-๘  พึงบำรุงท่านที่เคารพ คือ  พ่อผัว  แม่ผัว  และผัวด้วยการให้บริโภคแลนอนเสียก่อน  แล้วจึงบริโภคและนอนทีหลัง ฯ    ข้อ ๙-๑๐  พ่อผัว  แม่ผัว  และผัว  ชื่อว่าไฟและเทวดาภายใน  พึงบำเรอและเคารพนอบน้อมท่านเหล่านั้น  ไม่ล่วงเกินและดูหมิ่น เป็นหนึ่ง ใน พระเศรษฐี นวโกฏิ

ยสะเศรษฐี

ท่านเป็นบุตรของเศรษฐี ในกรุงพาราณสี ซึ่งมีเรือน ๓ หลังเป็นที่อยู่ในสามฤดู ครั้งหนึ่งในช่วงของฤดูฝน ยสกุลบุตรอาศัยอยู่ในเรือนซึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มีสตรีล้วนประโคมดนตรีบำรุงบำเรอ ในคืนหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อนหมู่ชนที่เป็นบริวาร

    เมื่อตื่นขึ้นมาตอนใกล้รุ่ง จึงเห็นหมู่ชนที่เป็นบริวารของตนนอนหลับมีอาการพิกลต่าง ๆ ไม่เป็นที่พอใจปรากฏแก่ยสกุลบุตร ดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า ยสกุลบุตรเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย จึงอุทานออกมาว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” สวมรองเท้าเดินออกจากประตูเมือง มุ่งหน้าไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน     ในเวลาจวนใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรเปล่งอุทานเดินใกล้เข้ามา จึงตรัสเรียกว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาที่นี่เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน”
    ยสกุลบุตรได้ยินเสียงตรัสเรียกอย่างนั้นแล้วจึงถอด รองเท้าเดินเข้าไปถวายบังคม นั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า “อนุปุพพิกถา” เพื่อฟอกจิตใจยสกุลบุตรให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม ต่อมาพระองค์ทรงแสดง “อริยสัจ ๔” ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมพิเศษ ณ สถานที่นั้นนั่นเอง ในภายหลังได้พิจารณาภูมิธรรมที่ตนเห็นแล้ว จิตก็พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์
      ส่วนมารดาของยสกุลบุตร (มารดาของยสกุลบุตร คือนางสุชาดา ผู้เคยถวายข้าวมธุปายาสแด่พระมหาบุรุษก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) พอรุ่งเช้าก็ขึ้นไปบนเรือนไม่เห็นลูก จึงบอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามีให้ทราบ
    เศรษฐีใช้ให้คนไปตามหาในทิศทั้งสี่ ส่วนตนเองก็เที่ยวตามหาอีกทางหนึ่งด้วย แต่บังเอิญเดินทางมุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกชายวางอยู่ ณ ที่นั้นจึงตามไป
    เมื่อเศรษฐีเดินไปถึงแล้วพระบรมศาสดาจึงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ในที่สุด แห่งพระธรรมเทศนา เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอ ถึงพระองค์ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึก ขอพระองค์จงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นที่ระลึกตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
    เศรษฐีนับได้ว่าเป็นอุบาสกที่อ้างเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็น สรณะก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก      เศรษฐี ผู้เป็นบิดายังไม่ทราบว่า ยสกุลบุตรเป็นผู้ที่สิ้นอาสวะแล้ว จึงขอร้องให้กลับไปเพื่อให้มารดาคลายจากความโศกเศร้าเสียใจ ภายหลังเมื่อทราบว่ายสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่สามารถจะหวนกลับไปครอบครองเรือนบริโภคกามคุณเหมือนแต่ก่อน จึง ทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับยสะเป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จรับบิณฑบาตในเวลาเช้า พระองค์ทรงรับด้วยอาการดุษณียภาพ (ดุษณีภาพ คือการรับนิมนต์ของพระบรมศาสดา ได้แก่ ทรงนิ่ง)
    เศรษฐีทราบว่าพระองค์ทรงรับนิมนต์ จึงลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วก็หลีกไป เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้ว ยสกุลบุตรจึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระบรมศาสดา พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เถิด” ในที่นี่ไม่ได้ตรัสว่า “เพื่อจะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ” เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว        เช้าวันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดามีพระยสเป็นปัจฉาสมณะ ตามเสด็จไปรับบิณฑบาตในเรือนของเศรษฐี พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อว่า อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ แก่สตรีทั้งสอง คือ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ปรากฏว่าสตรีทั้งสองได้ดวงตาเห็นธรรม แสดงตนเป็นอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึก และนับได้ว่าสตรีทั้งสองเป็นอุบาสิกาที่เกิดขึ้นในโลกก่อนกว่า หญิงอื่นใด เมื่อเสร็จภุตกิจ ตรัสเทศนาสั่งสอนชนทั้งสามแล้วพรองค์จึงเสด็จกลับไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน       

การอุปสมบทของพระยสะในครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์สุขให้หมู่ชนเป็นอันมาก เพราะว่าท่านยังสามารถ ชักจูงผู้อื่นเข้ามาอุปสมบทด้วย เช่น สหายของท่านอีก ๕๔ คน    ท่านได้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยประกาศพระศาสนาในตอน ปฐมโพธิกาลอีกองค์หนึ่ง     เมื่อดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน เป็นส่วนหนึ่ง ของ พระเศรษฐี นวโกฏิ

สุมนะเศรษฐี

มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับท่านสุมนะเศรษฐี ที่พิศดารว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตระ กุลบุตรผู้หนึ่ง เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ ในท่ามกลางบริษัท ๔ ปรารถนาสมบัตินั้น จึงนิมนต์พระศาสดา ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขสิ้น ๗ วัน
               แล้วตั้งความปรารถนาว่า “พระเจ้าข้า แม้ข้าพระองค์พึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.”
               พระศาสดาทรงตรวจดูสิ้นแสนกัลป์ ทรงทราบความสำเร็จแห่งความปรารถนาของเขาแล้ว จึงทรงพยากรณ์ว่า “ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ เธอจักเป็นผู้ชื่อว่าอนุรุทธเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ทิพยจักษุ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม.”
               เขาฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว สำคัญสมบัตินั้นดุจว่าอันตนบรรลุในวันพรุ่งนี้, เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว จึงถามการบริกรรมเพื่ออันได้ทิพยจักษุกะพวกภิกษุ ให้ทำโคมต้นหลายพันต้น ล้อมพระสถูปทองอัน (สูงใหญ่ได้) ๗ โยชน์ แล้วให้ทำการบูชาด้วยประทีป จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเทวโลกท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษย์โลกสิ้นแสนกัลป์
               ในกัลป์นี้ เกิดในตระกูลของคนเข็ญใจ ในกรุงพาราณสี อาศัยสุมนะเศรษฐี เป็นคนขนหญ้าของเศรษฐีนั้นเลี้ยงชีพแล้ว. เขาได้มีชื่อว่า “อันนภาระ.” แม้สุมนะเศรษฐีก็ถวายมหาทาน ในพระนครนั้น ตลอดกาลเป็นนิตย์.
               ภายหลังวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธะนามว่าอุปริฏฐะ ออกจากนิโรธสมาบัติที่เขาคันธมาทน์แล้ว คิดว่า “วันนี้ เราจักทำความอนุเคราะห์แก่ใครหนอแล?” ทราบว่า “วันนี้ การที่เราทำความอนุเคราะห์แก่บุรุษชื่ออันนภาระ ควร, ก็บัดนี้ เขาขนหญ้าจากดงแล้วจักมาเรือน” ดังนี้แล้ว จึงถือบาตรและจีวรไปด้วยฤทธิ์ ปรากฏเฉพาะหน้าของอันนภาระ.
               อันนภาระเห็นท่านมีบาตรเปล่าในมือแล้ว ถามว่า “ท่านขอรับ ท่านได้ภิกษาบ้างแล้วหรือ?” เมื่อท่านตอบว่า “เราจักได้ละ ท่านผู้มีบุญมาก” จึงเรียนว่า “ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรอหน่อยเถิด” ดังนี้แล้ว ก็ทิ้งหาบหญ้าไว้ ไปสู่เรือนโดยเร็ว
               ถามภรรยาว่า “นางผู้เจริญ ภัตส่วนที่หล่อนเก็บไว้เพื่อฉันมีหรือไม่?” เมื่อนางตอบว่า “มีอยู่ นาย” จึงกลับมาโดยเร็ว รับบาตรของพระปัจเจกพุทธะไปสู่เรือน ด้วยคิดว่า “เมื่อความที่เราเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะให้ มีอยู่ ไทยธรรมไม่มี, เมื่อไทยธรรมมี เราไม่ได้ปฏิคาหก แต่วันนี้ปฏิคาหกเราก็พบแล้ว และไทยธรรมของเราก็มีอยู่, เป็นลาภของเราหนอ” ให้เทภัตลงในบาตร แล้วนำกลับมาตั้งไว้ในมือพระปัจเจกพุทธะ
               แล้วตั้งความปรารถนาว่า :-
                         ก็ด้วยทานอันนี้ ความเป็นผู้ขัดสน อย่าได้มีแล้วแก่ข้าพเจ้า,
                         ชื่อว่าคำว่า ไม่มี อย่ามีแล้วในภพน้อยภพใหญ่.
                         ท่านเจ้าข้า ขอข้าพเจ้าพึงพ้นจากการเลี้ยงชีพอันฝืดเคือง
                         เห็นปานนี้, ไม่พึงได้ฟังบทว่า ‘ไม่มี’ เลย.
               พระปัจเจกพุทธะกระทำอนุโมทนาว่า “ขอความปรารถนาของท่าน จงเป็นอย่างนั้นเถิด ท่านผู้มีบุญมาก” ดังนี้แล้ว ก็หลีกไป.
               เทพดาผู้สิงอยู่ในฉัตรแม้ของสุมนเศรษฐี กล่าวว่า :-
                         น่าชื่นใจจริง ทานเป็นทานเยี่ยม อันนภาระ
                         ตั้งไว้ดีแล้วในพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.
               ดังนี้แล้ว ก็ได้ให้สาธุการสามครั้ง.
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะเทพดานั้นว่า “ท่านไม่เห็นเราผู้ถวายทานอยู่สิ้นกาลประมาณเท่านี้หรือ?”
               เทพดา. ข้าพเจ้าปรารภทานของท่านแล้วให้สาธุการก็หาไม่, แต่สาธุการนี่ ข้าพเจ้าให้เป็นไปแล้ว ก็เพราะความเลื่อมใสในบิณฑบาต ที่อันนภาระถวายแล้วแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.
               เศรษฐีนั้นคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ, เราถวายทานสิ้นกาลเท่านี้ ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้เทพดาให้สาธุการได้, อันนภาระอาศัยเราเป็นอยู่ ยังให้เทพดาสาธุการด้วยบิณฑบาตหนเดียวเท่านั้นได้, เราจักทำสิ่งอันสมควรกันในทานของเขา แล้วทำบิณฑบาตนั้นให้เป็นของๆ เราเสีย” ดังนี้แล้ว จึงให้เรียกเขามาถามว่า “วันนี้ เจ้าได้ให้อะไรแก่ใครบ้าง?”
               อันนภาระ. นายขอรับ, วันนี้ กระผมถวายภัตตาหารแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.
               เศรษฐี. เอาเถอะ พ่อ เจ้าจงถือเอากหาปณะ แล้วให้บิณฑบาตนั่นแก่ฉันเถิด.
               อันนภาระ. ให้ไม่ได้ดอกนาย.
               เศรษฐีนั้นขึ้นราคาให้จนถึงพัน. ฝ่ายอันนภาระนี้ ก็มิได้ให้แม้ด้วยทรัพย์ตั้งพัน.
               ลำดับนั้น เศรษฐีกล่าวกะเขาว่า “ผู้เจริญ ข้อนั้นจงยกไว้เถิด ถ้าเจ้าไม่ให้บิณฑบาต จงถือเอาทรัพย์พันหนึ่ง แล้วให้ส่วนบุญแก่ฉันเถิด.”
               เขากล่าวว่า “กระผมปรึกษากับพระผู้เป็นเจ้าดูแล้ว จักรู้ได้” รีบไปทันพระปัจเจกพุทธะแล้วเรียนถามว่า “ท่านผู้เจริญ สุมนเศรษฐีให้ทรัพย์พันหนึ่ง แล้วขอส่วนบุญในบิณฑบาตของท่าน, กระผมจะทำอย่างไร?”
               ทีนั้น ท่านนำข้อความมาเปรียบเทียบแก่เขาว่า “แม้ฉันใด ท่านผู้เป็นบัณฑิต ประทีปในเรือนหลังหนึ่งในบ้าน ๑๐๐ ตระกูล พึงลุกโพลงขึ้น, พวกชนที่เหลือเอาน้ำมันของตนชุบไส้แล้วพึงไปจุดไฟดวงอื่นแล้วถือเอา แสงสว่างของประทีปดวงเดิม อันบุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘มี’ หรือว่า ‘ไม่มี.’
               อันนภาระ. แสงสว่างย่อมมีมากกว่า ขอรับ.
               พระปัจเจกพุทธะ. ฉันนั้นนั่นแล ท่านผู้เป็นบัณฑิต จะเป็นข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือภิกษาทัพพีหนึ่งก็ตาม, เมื่อบุคคลให้ส่วนบุญในบิณฑบาตของตนแก่ผู้อื่นอยู่, ให้แก่คนไปเท่าใด บุญเท่านั้นย่อมเจริญ, ก็ท่านได้ให้บิณฑบาตส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่เศรษฐี บิณฑบาตชื่อว่าเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของท่าน ส่วนหนึ่งเป็นของเศรษฐี.
               เขารับว่า “ดีละ ท่านผู้เจริญ” แล้ว ไหว้พระปัจเจกพุทธะนั้น แล้วไปสู่สำนักของเศรษฐี กล่าวว่า “นาย ขอท่านจงรับเอาส่วนบุญเถิด.”
               เศรษฐี. ถ้ากระนั้น พ่อจงรับเอากหาปณะเหล่านี้ไป.
               อันนภาระ. กระผมไม่ได้ขายบิณฑบาต กระผมให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา.
               เศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าให้ด้วยศรัทธา ถึงเราก็บูชาคุณของเจ้าด้วยศรัทธา จงรับเอาไปเถิดพ่อ. อนึ่ง จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้ทำการงานด้วยมือของตน จงปลูกเรือนอยู่ริมถนนเถิด และจงถือเอาวัตถุทุกอย่างที่เจ้าต้องการ จากสำนักของฉัน.”
               ก็บิณฑบาตที่บุคคลถวายแก่ท่านผู้ออกจากนิโรธ ย่อมให้ผลในวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้พระราชาทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้เรียกอันนภาระมาแล้ว ทรงรับส่วนบุญ พระราชทานโภคะมากมาย แล้วรับสั่งให้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐี     อันนภาระนั้นเป็นสหายของสุมนเศรษฐี ทำบุญทั้งหลายตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในตำหนักของเจ้าศากยะ พระนามว่าอมิโตทนะ ในพระนครกบิลพัสดุ์. พระประยูรญาติทั้งหลายทรงขนานพระนามแก่พระกุมารนั้นว่า “อนุรุทธะ.” พระกุมารนั้นเป็นพระกนิษฐภาดาของเจ้ามหานามศากยะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าอาของพระศาสดา ได้เป็นผู้สุขุมาลชาติอย่างยิ่ง มีบุญมาก
               ได้ยินว่า วันหนึ่ง เมื่อกษัตริย์หกพระองค์เล่นขลุบเอาขนมทำคะแนนกัน, เจ้าอนุรุทธะแพ้ จึงส่งข่าวไปยังสำนักของพระมารดาเพื่อต้องการขนม. พระมารดานั้นเอาภาชนะทองคำใบใหญ่บรรจุให้เต็มแล้ว ส่งขนม (ให้). เจ้าอนุรุทธะเสวยขนมแล้ว ทรงเล่นแพ้อีก ก็ส่งข่าวไปอย่างนั้นเหมือนกัน.
               เมื่อคนนำขนมมาอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง, ในครั้งที่ ๔ พระมารดาส่งข่าวไปว่า “บัดนี้ ขนมไม่มี” เจ้าอนุรุทธะทรงสดับคำของพระมารดานั้นแล้ว ทำความสำคัญว่า “ขนมที่ชื่อว่าไม่มี จักมีในบัดนี้” เพราะความที่บทว่า “ไม่มี” เป็นบทที่ตนไม่เคยสดับแล้ว จึงทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า “เจ้าจงไป จงนำขนมไม่มีมา.”
               ครั้งนั้น พระมารดาของพระกุมารนั้น เมื่อคนรับใช้ทูลว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า นัยว่า ขอพระแม่เจ้าจงให้ขนมไม่มี” จึงทรงดำริว่า “บทว่า ‘ไม่มี’ อันบุตรของเราไม่เคยฟังมาแล้ว เราพึงให้เขารู้ความที่ขนมไม่มีนั้น อย่างไรได้หนอแล?” จึงทรงล้างถาดทองคำปิดด้วยถาดทองคำใบอื่น ส่งไปว่า “เอาเถิด พ่อ เจ้าจงให้ถาดทองคำนี้แก่บุตรของเรา.”
               ขณะนั้น เทพดาทั้งหลายผู้รักษาพระนครคิดว่า “เจ้าอนุรุทธะผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ถวายภัตอันเป็นส่วน (ของตน) แก่พระปัจเจกพุทธะนามว่าอุปริฏฐะ แล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า ‘เราไม่พึงได้ฟังบทว่า ไม่มี’ ในกาลแห่งตนเป็นคนขนหญ้าชื่ออันนภาระ. หากว่า เราทราบความนั้นแล้ว พึงเฉยเสียไซร้ แม้ศีรษะของเราพึงแตกออก ๗ เสี่ยง” จึงบรรจุถาดให้เต็มด้วยขนมทิพย์ทั้งหลายแล้ว.
               บุรุษนั้นนำถาดมาวางไว้ในสำนักของเจ้าศากยะเหล่านั้น แล้วเปิดออก. กลิ่นของขนมทิพย์เหล่านั้นแผ่ซ่านไปทั่วพระนคร. ก็เมื่อขนมพอสักว่าอันเจ้าศากยะเหล่านั้น ทรงวางไว้ในพระโอษฐ์ กลิ่นนั้นได้แผ่ไปสู่เส้นสำหรับรสตั้ง ๗ พันตั้งอยู่แล้ว.
               เจ้าอนุรุทธะทรงดำริว่า “ในกาลก่อนแต่นี้ พระมารดาเห็นจะไม่ทรงรักเรา เพราะในกาลอื่น พระองค์ท่านไม่เคยทอดขนมไม่มีแก่เรา.” พระกุมารนั้นไปแล้ว ทูลกะพระมารดาอย่างนี้ว่า “ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันไม่เป็นที่รักของพระองค์หรือ?”
               มารดา. พ่อ พูดอะไร? เจ้าเป็นที่รักยิ่งของแม่ แม้กว่านัยน์ตาทั้งสอง แม้กว่าเนื้อในหทัย.
               อนุรุทธะ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าหม่อมฉันเป็นที่รักของพระองค์ไซร้. เพราะเหตุอะไร? ในกาลก่อน พระองค์จึงไม่ได้ประทานขนมไม่มีเห็นปานนี้แก่หม่อมฉัน.
               พระนางตรัสถามบุรุษนั้นว่า “พ่อ อะไรได้มีในถาดหรือ?”
               บุรุษนั้นทูลว่า “มี พระแม่เจ้า, ถาดเต็มเปี่ยมด้วยขนมทั้งหลาย, ขนมเห็นปานนี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น.”
               พระนางดำริว่า “บุตรของเราได้ทำบุญไว้แล้ว, ขนมทิพย์จักเป็นของอันเทพดาทั้งหลายส่งไปให้บุตรของเรา.”
               แม้เจ้าอนุรุทธะก็ทูลกะพระมารดาว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ขนมเห็นปานนี้ หม่อมฉันไม่เคยกินเลย จำเดิมแต่นี้ พระองค์พึงทอดเฉพาะขนมไม่มีเท่านั้นแก่หม่อมฉัน.”
               จำเดิมแต่นั้น พระนางทรงล้างถาดทองคำแล้ว ปิดด้วยถาดใบอื่น ส่งไป (ให้) ในเวลาเจ้าอนุรุทธะทูลว่า “หม่อมฉันมีประสงค์จะบริโภคขนม.” เทพดาทั้งหลายย่อมยังถาดให้เต็ม (ด้วยขนม). พระกุมารนั้น เมื่ออยู่ในท่ามกลางวัง มิได้ทราบเนื้อความแห่งบทว่า “ไม่มี” ด้วยอาการอย่างนี้ เสวยแต่ขนมทิพย์ทั้งนั้น.
               ก็เมื่อโอรสของเจ้าศากยะผนวชตามลำดับตระกูล เพื่อเป็นบริวารของพระศาสดา เมื่อเจ้ามหานามศากยะตรัสว่า “พ่อ ในตระกูลของพวกเรา ใครๆ ซึ่งบวชแล้วไม่มี เธอหรือฉันควรจะบวช.” เจ้าอนุรุทธะตรัสว่า “หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ไม่สามารถจะบวชได้.”
               เจ้ามหานาม. ถ้ากระนั้น เธอจงเรียนการงานเสีย. ฉันจักบวช.
               เจ้าอนุรุทธะ. ชื่อว่าการงานนี้ เป็นอย่างไร?
               จริงอยู่ เจ้าอนุรุทธะย่อมไม่ทราบแม้ที่เกิดขึ้นแห่งภัต, จักทราบการงานได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น.
               ก็วันหนึ่ง เจ้าศากยะสามพระองค์ คือ อนุรุทธะ ภัททิยะ กิมพิละ ปรึกษากันว่า “ชื่อว่าภัต เกิดในที่ไหน?” บรรดาเจ้าศากยะทั้งสามพระองค์นั้น เจ้ากิมพิละตรัสว่า “ภัตเกิดขึ้นในฉาง.” ได้ยินว่า วันหนึ่ง เจ้ากิมพิละนั้นได้เห็นข้าวเปลือกที่เขาขนใส่ในฉาง เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้ ด้วยสำคัญว่า “ภัตย่อมเกิดขึ้นในฉาง.”
               ครั้งนั้น เจ้าภัททิยะตรัสกะเจ้ากิมพิละนั้นว่า “ท่านยังไม่ทราบ” ดังนี้แล้ว ตรัสว่า “ธรรมดาภัต ย่อมเกิดขึ้นในหม้อข้าว.” ได้ยินว่า วันหนึ่ง เจ้าภัททิยะนั้นเห็นชนทั้งหลายคดภัตออกจากหม้อข้าวนั้นแล้ว ได้ทำความสำคัญว่า “ภัตนั่นเกิดขึ้นในหม้อนี้เอง” เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น.
               เจ้าอนุรุทธะตรัสกะเจ้าทั้งสองนั้นว่า “แม้ท่านทั้งสองก็ยังไม่ทราบ” แล้วตรัสว่า “ภัตเกิดขึ้นในถาดทองคำใบใหญ่๑- ซึ่งสูงได้ศอกกำมา.” ได้ยินว่า ท่านไม่เคยเห็นเขาตำข้าวเปลือก ไม่เคยเห็นเขาหุงภัต, ท่านเห็นแต่ภัตที่เขาคดออกไว้ในถาดทองคำแล้ว ตั้งไว้ข้างหน้าเท่านั้น; เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้ทำความสำคัญว่า “ภัตนั่น ย่อมเกิดขึ้นในถาดนั่นเอง” เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น. กุลบุตรผู้มีบุญมาก เมื่อไม่รู้แม้ที่เกิดขึ้นแห่งภัตอย่างนั้น จักรู้การงานทั้งหลายอย่างไรได้.
____________________________
๑- โตก.

               เจ้าอนุรุทธะนั้นได้สดับความที่การงานทั้งหลายที่เจ้าพี่ตรัสบอก โดยนัยเป็นต้นว่า “อนุรุทธะจงมาเถิด ฉันจักสอนเพื่อการอยู่ครองเรือนแก่เธอ อันผู้อยู่ครองเรือน จำต้องไถนาก่อน” ดังนี้ เป็นของไม่มีที่สุด
               จึงทูลลาพระมารดาว่า “ความต้องการด้วยการอยู่ครองเรือนของหม่อมฉันไม่มี” แล้วเสด็จออกไปพร้อมกับพระโอรสของเจ้าศากยะห้าพระองค์ มีเจ้าภัททิยะเป็นประมุข เข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน ทรงผนวชแล้ว.
               ก็แลครั้นผนวชแล้ว พระอนุรุทธะเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ โดยลำดับ เป็นผู้นั่งบนอาสนะเดียว สามารถเล็งดูโลกธาตุพันหนึ่งได้ด้วยทิพยจักษุ ดุจผลมะขามป้อมที่บุคคลวางไว้บนฝ่ามือฉะนั้น จึงเปล่งอุทานขึ้นว่า :-
                         เราย่อมระลึกได้ซึ่งบุพเพนิวาส๑-, ทิพยจักษุ เราก็ชำระแล้ว,
                         เราเป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นผู้ถึงฤทธิ์, คำสอนของพระพุทธเจ้า
                         อันเราทำแล้ว.
               พิจารณาดูว่า “เราทำกรรมอะไรหนอ? จึงได้สมบัตินี้” ทราบได้ว่า “เราได้ตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตระ” ทราบ (ต่อไป) อีกว่า “เราท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร ในกาลชื่อโน้นได้อาศัยสุมนเศรษฐี ในกรุงพาราณสีเลี้ยงชีพ เป็นผู้ชื่อว่าอันนภาระ” ดังนี้แล้ว กล่าวว่า :-
                         ในกาลก่อน เราเป็นผู้ชื่อว่าอันนภาระ เป็นคนเข็ญใจ ขนหญ้า,
                         เราถวายบิณฑบาตแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ ผู้มียศ.
____________________________
๑- ขันธ์อันอาศัยอยู่ในกาลก่อน.
พระเถระระลึกถึงสหายเก่า                              ครั้งนั้น ท่านได้มีความปริวิตกฉะนี้ว่า “สุมนเศรษฐีผู้เป็นสหายของเรา ให้กหาปณะแล้วรับเอาส่วนบุญจากบิณฑบาตซึ่งเราถวายแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ ในกาลนั้น บัดนี้เกิดในที่ไหนหนอแล?”
               ทีนั้น ท่านได้เล็งเห็นเศรษฐีนั้นว่า “บ้านชื่อว่ามุณฑนิคม มีอยู่ที่เชิงเขาใกล้ดงไฟไหม้ อุบาสกชื่อมหามุณฑะ ในมุณฑนิคมนั้น มีบุตรสองคน คือมหาสุมนะ, จูฬสุมนะ ในบุตรสองคนนั้น สุมนเศรษฐีเกิดเป็นจูฬสุมนะ”
               ก็แลครั้นเห็นแล้ว คิดว่า “เมื่อเราไปในที่นั้น, อุปการะจะมีหรือไม่มีหนอ?” ท่านใคร่ครวญอยู่ได้เห็นเหตุนี้ว่า “เมื่อเราไปในที่นั้น จูฬสุมนะนั้นมีอายุ ๗ ขวบเท่านั้นจักออกบวช และจักบรรลุพระอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง:”
               ก็แลท่านครั้นเห็นแล้ว เมื่อภายในกาลฝนใกล้เข้ามา จึงไปทางอากาศลงที่ประตูบ้าน. ส่วนมหามุณฑอุบาสกเป็นผู้คุ้นเคยของพระเถระแม้ในกาลก่อนเหมือนกัน. เขาเห็นพระเถระครองจีวรในเวลาบิณฑบาต จึงกล่าวกะมหาสุมนะผู้บุตรว่า “พ่อ พระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธเถระของเรามาแล้ว, เจ้าจงไปรับบาตรของท่านให้ทันเวลาที่ใครๆ คนอื่นยังไม่รับบาตรของท่านไป พ่อจักให้เขาปูอาสนะไว้.”
               มหาสุมนะได้ทำอย่างนั้นแล้ว. อุบาสกอังคาสพระเถระภายในเรือนโดยเคารพแล้ว รับปฏิญญาเพื่อต้องการแก่การอยู่ (จำพรรษา) ตลอดไตรมาส. พระเถระรับนิมนต์แล้ว.
               ครั้งนั้น อุบาสกปฏิบัติพระเถระนั้นตลอดไตรมาส เป็นเหมือนปฏิบัติอยู่วันเดียว ในวันมหาปวารณา จึงนำไตรจีวรและอาหารวัตถุมีน้ำอ้อย น้ำมันและข้าวสารเป็นต้นมาแล้ว วางไว้ใกล้เท้าของพระเถระ เรียนว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับเถิด ขอรับ.”
ไม่รับวัตถุกลับได้สามเณร                              พระเถระ. อย่าเลยอุบาสก ความต้องการด้วยวัตถุนี้ของฉัน ไม่มี.
               อุบาสก. ท่านผู้เจริญ นี่ชื่อว่าวัสสาวาสิกลาภ (คือลาภอันเกิดแก่ผู้อยู่จำพรรษา) ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับวัตถุนั้นไว้เถิด.
               พระเถระ. ช่างเถิด อุบาสก.
               อุบาสก. ท่านย่อมไม่รับเพื่ออะไร? ขอรับ.
               พระเถระ. แม้สามเณรผู้เป็นกับปิยการก ในสำนักของฉันก็ไม่มี.
               อุบาสก. ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น มหาสุมนะผู้เป็นบุตรของกระผมจักเป็นสามเณร.
               พระเถระ. อุบาสก ความต้องการด้วยมหาสุมนะของฉัน ก็ไม่มี.
               อุบาสก. ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าจงให้จูฬสุมนะ บวชเถิด.
               พระเถระ. รับว่า “ดีละ” แล้วให้จูฬสุมนะบวช. จูฬสุมนะนั้นบรรลุอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง.
               พระเถระอยู่ในที่นั้นกับจูฬสุมนสามเณรนั้นประมาณกึ่งเดือนแล้ว ลาพวกญาติของเธอว่า “พวกฉันจักเฝ้าพระศาสดา” ดังนี้แล้วไปทางอากาศ ลงที่กระท่อมอันตั้งอยู่ในป่า ในหิมวันตประเทศ.
พระเถระปรารภความเพียรเสมอ                              ก็พระเถระ แม้ตามปกติเป็นผู้ปรารภความเพียร เมื่อท่านกำลังจงกรมอยู่ในที่นั้น ในคืนแรกและคืนต่อมา ลมในท้องตั้งขึ้นแล้ว.
               ครั้งนั้น สามเณรเห็นท่านลำบาก จึงเรียนถามว่า “ท่านขอรับ โรคอะไร? ย่อมเสียดแทงท่าน.”
               พระเถระ. ลมเสียดท้องเกิดขึ้นแก่ฉันแล้ว.
               สามเณร. แม้ในกาลอื่น ลมเสียดท้องเคยเกิดขึ้นหรือ ขอรับ.
               พระเถระ. เออ ผู้มีอายุ.
               สามเณร. ความสบายย่อมมีด้วยอะไรเล่า? ขอรับ.
               พระเถระ. เมื่อฉันได้น้ำดื่มจากสระอโนดาต, ความสบายย่อมมี ผู้มีอายุ.
               สามเณร. ท่านขอรับ ถ้ากระนั้น กระผมจะนำมา (ถวาย).
               พระเถระ. เธอจักอาจ (นำมา) หรือ? สามเณร.
               สามเณร. อาจอยู่ ขอรับ.
               พระเถระ. ถ้ากระนั้น นาคราชชื่อปันนกะ ในสระอโนดาตย่อมรู้จักฉัน. เธอจงบอกแก่นาคราชนั้น แล้วนำขวดน้ำดื่มขวดหนึ่งมาเพื่อประโยชน์แก่การประกอบยาเถิด.
               เธอรับว่า “ดีละ” แล้วไหว้พระอุปัชฌายะ เหาะขึ้นสู่เวหาสได้ไปตลอดที่ ๕๐๐ โยชน์แล้ว.
สามเณรต่อสู้กับพระยานาค                              ก็วันนั้น นาคราชมีนาคนักฟ้อนแวดล้อมแล้ว ปรารถนาจะเล่นน้ำ. นาคราชนั้น พอได้เห็นสามเณรผู้ไปอยู่เท่านั้น ก็โกรธคิดเห็นว่า “สมณะโล้นนี้ เที่ยวโปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงกระหม่อมของเรา สมณะโล้นนี้จักเป็นผู้มาแล้วเพื่อต้องการน้ำดื่มในสระอโนดาต บัดนี้เราจะไม่ให้น้ำดื่มแก่เธอ” ดังนี้แล้ว นอนปิดสระอโนดาตซึ่งมีประมาณถึง ๕๐ โยชน์ด้วยพังพาน ดุจบุคคลปิดหม้อข้าวด้วยถาดใหญ่ฉะนั้น.
               สามเณรพอแลดูอาการของนาคราชแล้ว ก็ทราบว่า “นาคราชนี้โกรธแล้ว” จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
                         นาคราช ผู้มีเดชกล้า มีกำลังมาก ท่านจงฟัง (คำ) ของ
                         ข้าพเจ้าเถิด, จงให้หม้อน้ำดื่มแก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าเป็น
                         ผู้มาแล้วเพื่อประโยชน์แก่น้ำสำหรับประกอบยา.
               นาคราชฟังคาถานั้นแล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-
                         แม่น้ำใหญ่ชื่อคงคา ณ เบื้องทิศบูรพา ย่อมไหลไป
                         สู่มหาสมุทร, ท่านจงนำเอาน้ำดื่มจากแม่น้ำคงคา
                         นั้นไปเถิด.
               สามเณรฟังคำนั้นแล้วคิดว่า “พระยานาคนี้จักไม่ให้ตามความปรารถนาของตน เราจักทำพลการให้มันรู้อานุภาพใหญ่ จักข่มพระยานาคนี้แล้ว จึงจักนำน้ำดื่มไป” ดังนี้แล้ว กล่าวว่า “มหาราช พระอุปัชฌายะให้ข้าพเจ้านำน้ำดื่มมาจากสระอโนดาตเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงจักนำน้ำดื่มนี้อย่างเดียวไป ท่านจงหลีกไปเสีย อย่าห้ามข้าพเจ้าเลย”
               ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-
                         ข้าพเจ้าจักนำน้ำดื่มไปจากสระอโนดาตนี้เท่านั้น,
                         ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความต้องการด้วยน้ำดื่มนี้เท่านั้น,
                         ถ้าเรี่ยวแรงและกำลังมีอยู่ไซร้, นาคราช ท่านจงขัด
                         ขวางไว้เถิด.
               ครั้งนั้น พระยานาคกล่าวกะเธอว่า :-
                         สามเณร ถ้าท่านมีความกล้าหาญอย่างลูกผู้ชายไซร้,
                         ข้าพเจ้าชอบใจคำพูดของท่าน, เชิญท่านนำน้ำดื่ม
                         ของข้าพเจ้าไปเถิด.
               ลำดับนั้น สามเณรตอบกะพระยานาคนั้นว่า “มหาราช ข้าพเจ้าจักนำไปอย่างนั้น” เมื่อพระยานาคพูดว่า “เมื่อท่านสามารถก็จงนำไปเถิด”
               รับปฏิญญาถึง ๓ ครั้งว่า “ถ้ากระนั้น ท่านจงรู้ด้วยดีเถิด” แล้วคิดว่า “การที่เราแสดงอานุภาพแห่งพระพุทธศาสนาแล้วจึงนำน้ำไป สมควรอยู่” ได้ไปสู่สำนักของพวกอากาสัฏฐกเทพดาก่อน. เทพดาเหล่านั้นมาไหว้แล้ว กล่าวว่า “อะไรกัน? ขอรับ” แล้วพากันยืนอยู่.
               สามเณรกล่าวว่า “สงครามของข้าพเจ้ากับปันนกนาคราชจักมีที่หลังสระอโนดาตนี่ พวกท่านจงไปในที่นั้นแล้ว ดูความชนะและความแพ้.”
               สามเณรนั้นเข้าไปหาท้าวโลกบาลทั้ง ๔ และท้าวสักกะ ท้าวสุยาม ท้าวสันดุสิต ท้าวสุนิมมิตและท้าววสวัตดี แล้วบอกเนื้อความนั้นโดยทำนองนั้นแล.
               ต่อแต่นั้น สามเณรไปโดยลำดับจนถึงพรหมโลก อันพรหมทั้งหลายในที่นั้นๆ ผู้มาไหว้แล้วยืนอยู่ ถามว่า “อะไรกัน? ขอรับ” จึงแจ้งเนื้อความนั้น.
               สามเณรนั้นเที่ยวไปบอกในที่ทุกแห่ง ๆ โดยครู่เดียวเท่านั้น เว้นเสียแต่อสัญญีสัตว์และอรูปพรหม ด้วยอาการอย่างนี้.
               ถึงเทพดาทุกๆ จำพวกฟังคำของเธอแล้ว ประชุมกันเต็มอากาศ ไม่มีที่ว่าง ที่หลังสระอโนดาต ดุจจุรณแห่งขนมที่บุคคลใส่ไว้ในทะนานฉะนั้น.
สามเณรเชิญเทพดามาดูการรบ                              เมื่อหมู่เทพดาประชุมกันแล้ว สามเณรยืน ณ อากาศ กล่าวกะพระยานาคว่า :-
                         นาคราช ผู้มีเดชกล้า มีกำลังมาก ท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า
                         ท่านจงให้หม้อน้ำดื่มแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นผู้มาเพื่อต้อง
                         การน้ำประกอบยา.
               ทีนั้น นาคกล่าวกะเธอว่า :-
                         สามเณร ถ้าท่านมีความกล้าหาญอยู่อย่างลูกผู้ชายไซร้,
                         ข้าพเจ้าชอบใจคำพูดของท่าน, ท่านจงนำน้ำดื่มของ
                         ข้าพเจ้าไปเถิด.
               สามเณรนั้นรับคำปฏิญญาของนาคราชถึง ๓ ครั้งแล้ว ยืน ณ อากาศนั้นเอง นิรมิตอัตภาพเป็นพรหมประมาณ ๑๒ โยชน์ แล้วลงจากอากาศ เหยียบที่พังพานของพระยานาค กดให้หน้าคว่ำลงแล้ว. ในทันทีนั้นเอง เมื่อสามเณรพอสักว่าเหยียบพังพานของพระยานาคเท่านั้น แผ่นพังพานได้หดเข้าประมาณเท่าทัพพี ดุจหนังสดอันบุรุษผู้มีกำลังเหยียบแล้วฉะนั้น. ในที่ซึ่งพ้นจากพังพานของพระยานาคออกมา สายน้ำประมาณเท่าลำตาลพุ่งขึ้นแล้ว. สามเณรยังขวดน้ำดื่มให้เต็ม ณ อากาศนั้นเอง.
               หมู่เทพได้ให้สาธุการแล้ว.
พระยานาคแพ้สามเณร                              นาคราชละอาย โกรธต่อสามเณรแล้ว. นัยน์ตาทั้งสองของนาคราชนั้นได้มีสีดุจดอกชบา. พระยานาคนั้นคิดว่า “สมณะโล้นนี้ให้หมู่เทพประชุมกันแล้ว ถือเอาน้ำดื่ม ยังเราให้ละอายแล้ว เราจะจับเธอ สอดมือเข้าในปากแล้ว ขยี้เนื้อหทัยของเธอเสีย หรือจะจับเธอที่เท้า แล้วขว้างไปฟากแม่น้ำข้างโน้น” ดังนี้แล้วติดตามไปโดยเร็ว. แม้ติดตามไปอยู่ ก็ไม่สามารถจะทันสามเณรได้เลย.
               สามเณรมาแล้ว วางน้ำดื่มไว้ในมือพระอุปัชฌายะ เรียนว่า “ขอท่านจงดื่มเถิด ขอรับ.”
พระยานาคพูดเท็จแต่สามเณรไม่พูดเท็จ                              แม้พระยานาคก็มาข้างหลัง กล่าวว่า “ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ สามเณรถือเอาน้ำซึ่งข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้เลยมา ขอท่านจงอย่าดื่ม.”
               พระเถระ. ถามว่า “นัยว่า อย่างนั้นหรือ? สามเณร.”
               สามเณร. ขอนิมนต์ท่านดื่มเถิด ขอรับ, น้ำดื่มอันพระยานาคนี้ให้แล้ว กระผมจึงนำมา.
               พระเถระทราบว่า “ขึ้นชื่อว่าการกล่าวคำเท็จของสามเณรผู้เป็นขีณาสพ ย่อมไม่มี” จึงดื่มน้ำแล้ว. อาพาธของท่านสงบลงในขณะนั้นเอง.
               นาคราชกล่าวกะพระเถระอีกว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้อันสามเณรให้หมู่เทพทั้งหมดประชุมกันให้ละอายแล้ว ข้าพเจ้าจักผ่าหทัยของเธอ หรือจักจับเธอที่เท้า และขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำข้างโน้น.”
               พระเถระกล่าวว่า “มหาราช สามเณรมีอานุภาพมาก ท่านจักไม่สามารถเพื่อสู้รบกับสามเณรได้ ท่านจงให้สามเณรนั้น อดโทษแล้วกลับไปเสียเถิด.”
พระยานาคขอขมาสามเณร                              พระยานาคนั้นย่อมรู้อานุภาพของสามเณรแม้เอง แต่ติดตามมา เพราะความละอาย.
               ลำดับนั้น พระยานาคให้สามเณรนั้นอดโทษตามคำของพระเถระ ทำความชอบพอกันฉันมิตรกับเธอ จึงกล่าวว่า “จำเดิมแต่กาลนี้ เมื่อความต้องการด้วยน้ำในสระอโนดาตมีอยู่ กิจด้วยการมาแห่งพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่มี พระผู้เป็นเจ้าพึงส่ง (ข่าว) ไปถึงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองจักนำน้ำมาถวาย” ดังนี้แล้วหลีกไป แม้พระเถระก็พาสามเณรไปแล้ว.
               พระศาสดาทรงทราบความมาแห่งพระเถระแล้ว ประทับนั่งทอดพระเนตรการมาแห่งพระเถระ บนปราสาทของมิคารมารดา. ถึงพวกภิกษุก็เห็นพระเถระซึ่งกำลังมา ลุกขึ้นต้อนรับ รับบาตรและจีวร.
พวกภิกษุล้อเลียนสามเณร                              ครั้งนั้น ภิกษุบางพวกจับสามเณรที่ศีรษะบ้าง ที่หูทั้ง ๒ บ้าง ที่แขนบ้าง พลางเขย่า กล่าวว่า “ไม่กระสันหรือ? สามเณร.”
               พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงดำริว่า “กรรมของภิกษุเหล่านี้หยาบจริง ภิกษุเหล่านี้จับสามเณรเป็นดุจจับอสรพิษที่คอ พวกเธอหารู้อานุภาพของสามเณรไม่ วันนี้ การที่เราทำคุณของสุมนสามเณรให้ปรากฏ สมควรอยู่.”
               แม้พระเถระก็มาถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่ง.
พระศาสดาทรงทำคุณของสามเณรให้ปรากฏ                              พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับด้วยท่านแล้ว ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาว่า “อานนท์ เราเป็นผู้มีความประสงค์เพื่อจะล้างเท้าทั้งสองด้วยน้ำในสระอโนดาต เธอจงให้หม้อแก่พวกสามเณรแล้วให้นำน้ำมาเถิด.” พระเถระให้สามเณรประมาณ ๕๐๐ ในวิหารประชุมกันแล้ว.
               บรรดาสามเณรเหล่านั้น สุมนสามเณรได้เป็นผู้ใหม่กว่าสามเณรทั้งหมด. พระเถระกล่าวกะสามเณรผู้แก่กว่าสามเณรทั้งหมดว่า “สามเณร พระศาสดามีพระประสงค์จะทรงล้างพระบาททั้งสองด้วยน้ำในสระอโนดาต, เธอจงถือหม้อน้ำไปนำน้ำมาเถิด.”
               สามเณรนั้นไม่ปรารถนา ด้วยกล่าวว่า “กระผมไม่สามารถ ขอรับ.” พระเถระถามสามเณรทั้งหลายแม้ที่เหลือโดยลำดับ. แม้สามเณรเหล่านั้น ก็พูดปลีกตัวอย่างนั้นแล.
               มีคำถามว่า “ก็บรรดาสามเณรเหล่านี้ สามเณรผู้เป็นขีณาสพไม่มีหรือ?”
               แก้ว่า “มีอยู่. แต่สามเณรเหล่านั้นไม่ปรารถนา ด้วยคิดเห็นว่า “พวงดอกไม้นี้ พระศาสดาไม่ทรงผูกไว้เพื่อพวกเรา พระองค์ทรงผูกไว้เพื่อสุมนสามเณรองค์เดียว. แต่พวกสามเณรผู้เป็นปุถุชนไม่ปรารถนา ก็เพราะความที่ตนเป็นผู้ไม่สามารถนั่นเอง.”
               ก็ในที่สุด เมื่อวาระถึงแก่สุมนสามเณรเข้า พระเถระกล่าวว่า “สามเณร พระศาสดามีพระประสงค์จะทรงล้างพระบาททั้งสองด้วยน้ำในสระอโนดาต ได้ยินว่า เธอจงถือเอาหม้อไปตักน้ำมา”
               สุมนสามเณรนั้นเรียนว่า “เมื่อพระศาสดาทรงให้นำมา กระผมจักนำมา” ดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ยินว่า พระองค์ให้ข้าพระองค์นำน้ำมาจากสระอโนดาตหรือ? พระเจ้าข้า”
               พระศาสดาตรัสว่า “อย่างนั้น สุมนะ.”
               สุมนสามเณรนั้นเอามือจับหม้อใหญ่ใบหนึ่ง ซึ่งจุน้ำได้ตั้ง ๖๐ หม้อ ในบรรดาหม้อสำหรับเสนาสนะ ซึ่งเลี่ยมดาดด้วยทองแท่ง อันนางวิสาขาให้สร้างไว้ หิ้วไปด้วยคิดว่า “ความต้องการของเราด้วยหม้อ อันเรายกขึ้นตั้งไว้บนจะงอยบ่านี้ ย่อมไม่มี” เหาะขึ้นสู่เวหาส บ่ายหน้าต่อหิมวันตประเทศ รีบไปแล้ว.
               นาคราชเห็นสามเณรซึ่งกำลังมาแต่ไกลเทียว จึงต้อนรับ แบกหม้อด้วยจะงอยบ่า กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า เมื่อผู้รับใช้เช่นข้าพเจ้ามีอยู่ เพราะอะไร พระผู้เป็นเจ้าจึงมาเสียเอง เมื่อความต้องการน้ำมีอยู่ เหตุไร? พระผู้เป็นเจ้าจึงไม่ส่งเพียงข่าวสาสน์มา” ดังนี้แล้ว เอาหม้อตักน้ำแบกเองกล่าวว่า “นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าล่วงหน้าไปก่อนเถิดขอรับ ข้าพเจ้าเองจักนำไป.”
               สามเณรกล่าวว่า “มหาราช ท่านจงหยุด ข้าพเจ้าเองเป็นผู้อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้มา” ดังนี้ให้พระยานาคกลับแล้ว เอามือจับที่ขอบปากหม้อ เหาะมาทางอากาศ.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงแลดูเธอซึ่งกำลังมา ตรัสเรียกพวกภิกษุมาแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูการเยื้องกรายของสามเณร เธอย่อมงดงามดุจพระยาหงส์ในอากาศฉะนั้น.”
               แม้สามเณรนั้นวางหม้อน้ำแล้ว ได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้วยืนอยู่.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า “สุมนะ เธอมีอายุได้เท่าไร? สามเณรกราบทูลว่า “มีอายุ ๗ ขวบ พระเจ้าข้า.” พระศาสดาตรัสว่า “สุมนะ ถ้ากระนั้น ตั้งแต่วันนี้ เธอจงเป็นภิกษุเถิด” ดังนี้แล้ว ได้ประทานทายัชชอุปสมบท.
               ได้ยินว่า สามเณรผู้มีอายุ ๗ ปี ๒ รูปเท่านั้น ได้อุปสมบท คือสุมนสามเณรนี้รูปหนึ่ง โสปากสามเณรรูปหนึ่ง.
               เมื่อสุมนสามเณรนั้นอุปสมบทแล้วอย่างนั้น พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย กรรมนี้น่าอัศจรรย์ อานุภาพของสามเณรน้อย แม้เห็นปานนี้ก็มีได้ อานุภาพเห็นปานนี้ พวกเราไม่เคยเห็นแล้ว ในกาลก่อนแต่กาลนี้.”
สมบัติย่อมสำเร็จแก่เด็กๆ ได้                              พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ?” เมื่อพวกเธอกราบทูลว่า “ด้วยเรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า” ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในศาสนาของเรา บุคคลแม้เป็นเด็ก ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้สมบัติเห็นปานนี้เหมือนกัน”
เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

    ๑๒.  โย หเว ทหโร ภิกฺขุ   ยุญฺชติ พุทฺธสาสเน โส อิมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา ภิกษุใดแล ยังหนุ่ม พากเพียรอยู่ในพระพุทธศาสนา, ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์ที่พ้นแล้ว จากหมอก (เมฆ) สว่างอยู่ฉะนั้น.

แก้อรรถ    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุญฺชติ ได้แก่ พากเพียร คือพยายามอยู่.
  ทว่า ปภาเสติ เป็นต้น ความว่า ภิกษุนั้นย่อมยังโลกต่างโดยขันธโลกเป็นต้น ให้สว่างได้ คือย่อมทำให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยญาณอันสัมปยุตด้วยอรหัตมรรคของตน ดุจพระจันทร์ที่พ้นแล้วจากเครื่องกำบังมีหมอกเป็นต้นฉะนั้น.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เป็นส่วนหนึ่ง ของ พระเศรษฐี นวโกฏิ

ชฏิละเศรษฐี ผู้มีภูเขาทองคำเกิดขึ้นอย่างอัศจรรย์ด้วยบุญที่เคยทำไว้

ชฎิลเศรษฐี ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในครั้งพุทธกาล ในสมัยพุทธกาล ณ กรุงพาราณสี มีลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่งเป็นหญิงที่สวยงามมาก บิดาหวงแหนนางมากและไม่อยากให้ใครเห็น จึงให้นางขึ้นไปอาศัยอยู่บนปราสาทชั้นที่ 7 พร้อมกับคนรับใช้อีก 1 คน ต่อมานางได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยากับวิทยาธรที่เหาะผ่านมา และตั้งครรภ์ขึ้น เรื่องที่นางคบกับวิทยาธรและตั้งครรภ์ ไม่มีใครรู้เลย นอกจากคนรับใช้         เวลาผ่านไป 10 เดือน นางคลอดลูกออกมาเป็นเด็กผู้ชาย ด้วยความกลัวว่าบิดามารดาจะรู้ นางจึงสั่งให้คนรับใช้อุ้มเด็กใส่ในภาชนะ ปิดฝาจนแน่น เอาพวงดอกไม้วางไว้ข้างบน แล้วนำไปลอยที่แม่น้ำคงคา ระหว่างทาง เวลามีคนถามว่า มีอะไรอยู่ในภาชนะนั้น คนรับใช้ตอบว่า “เป็นพลีกรรมของนายหญิงของฉัน”         ทารกน้อยแรกเกิดที่นอนอยู่ในภาชนะ ลอยไปตามกระแสน้ำโดยไม่รู้ชะตากรรม จนกระทั่งไปถึงท่าน้ำแห่งหนึ่ง วันนั้นมีหญิง 2 คน กำลังอาบน้ำอยู่ในแม่น้ำคงคา ทั้ง 2 มองเห็นภาชนะที่ถูกกระแสน้ำพัดมา หญิงคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ภาชนะนั้นเป็นของฉัน” ส่วนหญิงอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งที่อยู่ในภาชนะนั้นเป็นของฉัน” ครั้นช่วยกันเปิดภาชนะนั้นออกดู ก็เห็นทารกเพศชายหน้าตาน่ารัก ทั้งคู่อยากได้เด็กไปเลี้ยง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงกราบทูลเรื่องราวให้พระราชาทรงตัดสิน พระราชาทรงวินิจฉัยให้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นอุปัฏฐากของพระมหากัจจายนะเป็นฝ่ายได้เด็กไป นางตั้งชื่อให้ทารกน้อยว่า ชฎิล (แปลว่า รุงรังยุ่งเหยิง) เพราะผมของเด็กรุงรังยุ่งเหยิง เนื่องจากเมื่อคลอดออกมาแล้วไม่มีใครช่วยทำความสะอาดผมให้เกลี้ยง        

หญิงคนนี้เลี้ยงดูทารกน้อยด้วยความรัก และตั้งใจว่าจะถวายเด็กน้อยแด่พระมหากัจจายนะ เพื่อให้บวชในสำนักของท่าน วันหนึ่ง พระมหากัจจายนะไปบิณฑบาตที่บ้านของหญิงผู้นี้ ตอนนั้นเด็กน้อยชฎิลอายุราว 7 ขวบ นางจึงถวายเด็กน้อยให้ไปบวชเป็นสามเณรในสำนักของท่าน แต่พระมหากัจจายนะเห็นด้วยญาณทัสสนะว่า เด็กน้อยคนนี้เป็นผู้มีบุญมาเกิด เมื่อโตขึ้นจะได้ครอบครองสมบัติในเพศคฤหัสถ์เสียก่อนแล้วจึงจะบวช ดังนั้น แทนที่จะให้ชฎิลบวชเป็นสามเณร ท่านจึงพาเด็กน้อยไปฝากไว้ที่บ้านของอุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากคนหนึ่งในกรุงตักสิลา ซึ่งอุบาสกได้เลี้ยงดูเด็กน้อยเสมือนบุตรชายของตน        

อุบาสกคนนี้มีอาชีพค้าขาย เขามีสินค้าจำนวนมากที่ตกค้างมาเป็นเวลานานถึง 12 ปี เพราะขายไม่ออก วันหนึ่งอุบาสกมีธุระ เขาฝากสินค้าเหล่านี้ไว้กับชฎิล ด้วยมหาทานบารมีที่ชฎิลเคยสั่งสมมาในกาลก่อน เทวดาผู้รักษาพระนครจึงบันดาลให้ผู้คนพากันหลั่งไหลไปซื้อสิ่งของที่พ่อค้าเก็บไว้นานถึง 12 ปี จนหมดเกลี้ยงภายในวันเดียว ตกตอนเย็น อุบาสกกลับมาไม่เห็นสินค้าแม้แต่ชิ้นเดียว ก็ตกใจมาก เขาถามชฎิลว่า “เจ้าทำสินค้าเสียหายหมดแล้วหรือ” แต่พอทราบว่า เด็กชายชฎิลขายสินค้าได้หมด เขาก็บังเกิดความตื่นเต้นยินดีและอัศจรรย์ใจ และรู้ว่าเด็กคนนี้เป็นผู้มีบุญมาเกิด         ต่อมา เมื่อชฎิลเติบโตเป็นหนุ่ม อุบาสกจึงยกบุตรสาวให้ และสั่งให้บริวารสร้างบ้านหลังใหญ่โตมโหฬารให้อยู่ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ชฎิลและภรรยาจึงเตรียมตัวย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านใหม่

ในทันทีที่ชฎิลก้าวเท้าข้ามธรณีประตูแล้วเหยียบลงที่พื้นบ้านด้วยเท้าเพียงข้างเดียว เหตุมหัศจรรย์บังเกิดขึ้นคือ มีภูเขาทองประมาณ 80 ศอก แทรกแผ่นดินขึ้นมาบริเวณหลังบ้าน ด้วยอำนาจบุญของเขา ภูเขาทองคำนี้ เป็นสมบัติอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นสำหรับชฎิลและลูกชายคนเล็กเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครขุดทองออกมาได้นอกจากชฎิลกับลูกชายคนเล็ก คนอื่นแม้จะมีกำลังมหาศาลเพียงใด หรือใช้วัตถุที่แข็งแกร่งเพียงใด ก็ไม่สามารถขุดได้ แต่สำหรับชฎิลนั้น เมื่อไรที่ต้องการทองคำ เขาก็ใช้จอบเพชรด้ามทองขุดทองขึ้นมาได้เลย         ภูเขาทองคำที่เกิดขึ้นอย่างอัศจรรย์นี้ สร้างความแตกตื่นแก่มหาชนทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อพระราชาทรงทราบว่ามีภูเขาทองคำบังเกิดขึ้นที่บ้านของชฎิล ก็ทรงแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งเศรษฐี พร้อมทั้งพระราชทานฉัตรประจำตำแหน่งเศรษฐีให้ นับตั้งแต่นั้นมา ชฎิลผู้มีบุญก็กลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีสมบัติอันมหาศาลยิ่งกว่าใครๆ ในแคว้นนั้น มหาชนจึงพากันเรียกขานเขาว่า “ชฎิลเศรษฐี”

ชฎิลเศรษฐี ใช้ชีวิตอยู่ในเพศคฤหัสถ์ท่ามกลางสมบัติอันมหาศาลเรื่อยมา จนวันหนึ่ง ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในการครองเรือน ท่านเห็นว่า การบวชคือหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตพบกับความสุขสงบได้อย่างแท้จริง ท่านจึงคิดหาหนทางที่จะออกบวชเรื่อยมา ต่อมา เมื่อเห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสม ท่านจึงไปทูลขอพระบรมราชานุญาตออกบวช เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ชฎิลเศรษฐีจึงเรียกลูกชายทั้ง 3 คน มารับมรดก         ก่อนอื่น ท่านให้ลูกๆ ทดลองขุดภูเขาทองคำ ปรากฏว่า ลูกคนโตและคนรองขุดไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามสักเพียงใด แต่ลูกชายคนเล็กกลับขุดได้ง่ายราวกับขุดดินเหนียว ท่านจึงมอบภูเขาทองคำให้ลูกชายคนเล็ก แล้วบอกกับลูกอีก 2 คนว่า “ภูเขาทองลูกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อพวกเจ้า และไม่ใช่ของสาธารณะแก่คนทั่วไป แต่เกิดขึ้นเพื่อพ่อและน้องคนเล็ก หากลูกทั้ง 2 ต้องการทอง ก็จงขอจากน้องเถิด” เมื่อกล่าวให้โอวาทและอบรมสั่งสอนลูกเรียบร้อยแล้ว ชฎิลเศรษฐีก็ก้าวออกจากเรือนไปบวชเป็นพระภิกษุโดยปราศจากความอาลัยในทรัพย์สมบัติ ท่านตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ในเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น ก็สามารถทำพระนิพพานให้แจ้ง บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมคุณวิเศษทั้งหลาย         ส่วนสาเหตุที่ท่านถูกแม่สั่งให้คนใช้เอาไปลอยน้ำ สาเหตุที่มีภูเขาทองเกิดขึ้นหลังบ้าน และสาเหตุที่ลูกชายคนเล็กขุดทองจากภูเขาทองได้นั้น อยู่ในเรื่องราวต่อไปนี้         ย้อนไปเมื่อหนึ่งพุทธันดรที่ผ่านมา ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้น ชฎิลเศรษฐีมีอาชีพเป็นช่างทอง ภายหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว มหาชนได้ร่วมกันสร้างพระเจดีย์ทองคำเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์นั้นมีความสูง 1 โยชน์ สร้างโดยใช้หรดาลมโนศิลาแทนดินเหนียว ใช้น้ำมันแทนน้ำ แล้วก่อด้วยอิฐทองคำ มหาชนทั้งหลายต่างช่วยกันสร้างพระเจดีย์อย่างเต็มที่เต็มกำลัง แต่ทองคำยังไม่เพียงพอ เมื่อพระอรหันต์องค์หนึ่งทราบข่าว ท่านจึงอาสานำข่าวบุญไปแจ้งแก่ชาวเมือง ท่านเดินแจ้งข่าวให้ชาวเมืองทราบโดยทั่วกันว่า ทองคำไม่พอสร้างเจดีย์ เมื่อเดินไปถึงบ้านนายช่างทอง ท่านก็แวะแจ้งข่าวให้นายช่างทองทราบว่า ทองสำหรับสร้างพระเจดีย์ยังไม่พอ ปรากฏว่าขณะนั้น นายช่างทองกำลังทะเลาะกับภรรยาอยู่ เขาอารมณ์ไม่ดี จึงตวาดออกไปว่า “ท่านจงโยนพระศาสดาของท่านลงในน้ำ แล้วจงไปเสีย” ภรรยาของเขาตกใจมาก กล่าวว่า “ท่านทำกรรมหนักเสียแล้ว ท่านโกรธดิฉัน ก็ควรจะด่าหรือเฆี่ยนตีดิฉัน เหตุไฉนท่านจึงสร้างเวรกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่า”        

เมื่อนายช่างทองได้ยินคำพูดของภรรยา ก็ได้สติสำนึกผิด และเกิดความร้อนใจในการกระทำของตน เขาจึงเข้าไปขอขมาพระอรหันต์ แต่พระอรหันต์กล่าวว่า “ท่านไม่ได้ล่วงเกินอาตมาเลย ท่านล่วงเกินพระบรมศาสดาต่างหาก ท่านจงขอให้พระศาสดายกโทษให้เองเถิด” พร้อมทั้งแนะนำให้นายช่างทองทำหม้อดอกไม้ทองคำ 3 ใบ บรรจุไว้ภายในพระเจดีย์ แล้วไปกราบขอขมาพระศาสดาต่อหน้ามหาเจดีย์ กรรมหนักจะได้กลายเป็นเบา นายช่างทองตัดสินใจที่จะทำตามคำแนะนำของพระอรหันต์ เขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ลูกชายทั้ง 3 ฟังว่า เขาได้กล่าวถ้อยคำล่วงเกินพระบรมศาสดา และตอนนี้กำลังจะทำหม้อดอกไม้ทองคำบรรจุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อเป็นการขอขมาพระองค์ นายช่างทองชวนลูกๆ ทั้ง 3 คน ให้มาช่วยกันทำหม้อดอกไม้ทองคำขนาด 1 คืบ 3 ใบ ด้วยฝีมือที่ละเอียด ประณีต งดงาม เสร็จแล้วก็พากันนำหม้อดอกไม้ทองคำทั้ง 3 ใบ ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ แล้วไปกราบขอขมาพระบรมศาสดา น้อมระลึกถึงพระคุณอันไม่มีประมาณของพระพุทธองค์ ณ เบื้องหน้าพระเจดีย์นั้น         ด้วยวิบากกรรมที่กล่าวคำดูหมิ่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้นายช่างทองถูกทิ้งลงแม่น้ำมาแล้วถึง 7 อัตภาพ ตลอด 1 พุทธันดร และด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(บุคคลบริสุทธิ์) ด้วยหม้อดอกไม้ทองคำที่ล้ำค่าและวิจิตรงดงาม(วัตถุบริสุทธิ์) เพื่อกราบขอขมาและระลึกถึงพระคุณอันไม่มีประมาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(เจตนาบริสุทธิ์) ทำให้ภูเขาทองคำสูง 80 ศอก บังเกิดขึ้นสำหรับช่างทองและลูกชายคนเล็กเป็นอัศจรรย์ ภูเขาทองที่เกิดขึ้นกับชฎิลเศรษฐีอย่างอัศจรรย์ เป็นเรื่องจริงที่ปรากฎขึ้นด้วยอำนาจบุญ และถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก เป็นตำนานแห่งความดีสืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน         ประวัติศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจอดีต เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในปัจจุบันได้ฉันใด เรื่องราวของชฎิลเศรษฐีก็ช่วยให้เราเข้าใจ know-how หรือวิธีการในการเป็นเศรษฐี เพื่อนำมาสร้างความเป็นเศรษฐีให้เกิดขึ้นกับตนเองได้ฉันนั้น จากเรื่องราวของชฎิลเศรษฐี เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า การเป็นเศรษฐีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถเป็นได้ด้วยการทำทานหรือการให้ และถ้าใครให้อย่างไร เขาก็จะได้อย่างนั้นเป็นการตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากให้ทานอย่างถูกหลักวิชา คือ ถึงพร้อมด้วยวัตถุบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ และบุคคลบริสุทธิ์ ซึ่งชฎิลเศรษฐีกระทำถูกต้องครบถ้วนทั้ง 3 ประการ ส่งผงให้ท่านได้ครอบครองภูเขาทองคำที่ตักใช้ไม่รู้จักพร่อง กลับกลายจากคนธรรมดามาเป็นเศรษฐีระดับ top five คือเป็นเศรษฐีที่รวยอยู่ในระดับ 1 ใน 5 ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในครั้งพุทธกาล         เป็นส่วนหนึ่ง ของ พระเศรษฐี นวโกฏิ

อนาถปิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เกิดในตระกูลมหาเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี บิดาชื่อว่า “สุมนะ”
มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล เมื่อเกิดมาแล้วบรรดาหมู่ญาติได้ตั้งชื่อให้ว่า “สุทัตตะ” เป็นคนมีจิตเมตตาชอบทำบุญให้ทานแก่คนยากจนอนาถาได้ชื่อใหม่เพราะให้ทาน
เมื่อบิดามารดาของท่านล่วงลับไปแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีแทน ให้ตั้งโรงทานที่
หน้าบ้านแจกอาหารแก่คนยากจนทุกวัน จนกระทั่งประชาชนทั่วไปเรียกท่านตามลักษณะนิสัยว่า “อนาถบิณฑิกะ” ซึ่งหมายถึง “ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา” และได้เรียกกันต่อมาจนบางคนก็ลืมชื่อเดิมของท่านไปเลยท่านอนาถบิณฑิกะ ทำการค้าขายระหว่างเมืองสาวัตถีกับเมืองราชคฤห์เป็นประจำจนมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับเศรษฐีเมืองราชคฤห์ นามว่า “ราชคหกะ” และต่อมาเศรษฐีทั้งสองก็มีความเกี่ยวดองกันมากขึ้น โดยต่างฝ่ายก็ได้น้องสาวของกันและกันมาเป็นภรรยา ดังนั้นเมื่ออนาถบิณฑิกะ นำสินค้ามาขายยังเมืองราชคฤห์จึงได้มาพักอาศัยที่บ้านของราชคฤหเศรษฐี ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งน้องเขยและพี่เมียอยู่เป็นประจำ อนาถบิณฑิกเศรษฐีสำเร็จพระโสดาบัน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดำรงชีวิตอยู่ในกรุงสาวัตถี โดยมิได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการเกิดขึ้น
แห่งพระพุทธศาสนาเลย จวบจนวันหนึ่งท่านได้นำสินค้ามาขายยังเมืองราชคฤห์ และได้เข้าพักในบ้านของราชคหกเศรษฐีตามปกติ แต่ในวันนั้น เป็นวันที่ราชคหกเศรษฐี ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากมายและฉันภัตตาหารที่เรือนของตนในวันรุ่งขึ้น ราชคหกเศรษฐี มัวยุ่งอยู่กับการสั่งงานแก่ข้าทาสบริวาร จึงไม่มีเวลามาปฏิสันถาร ต้อนรับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเหมือนเช่นเคย เพียงแต่ได้ทักทายปราศัยเล็กน้อยเท่านั้นแล้วก็ สั่งงานต่อไปแม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็เกิดความสงสัยขึ้นเช่นกัน จึงคิดอยู่ในใจว่า “ราชคหกเศรษฐี คงจะมีงานบูชาอัญหรือไม่ก็คงจะกราบทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารเสด็จมายัง เรือนของตนในวันพรุ่งนี้”
เมื่อการสั่งงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ราชคหกเศรษฐี จึงได้มีเวลามาต้อนรับพูดคุยกับ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ไต่ถามข้อข้องใจสงสัยนั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่าที่มัวยุ่งอยู่กับการสั่งงานนั้นก็เพราะได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ มาเสวยและฉันภัตตาหารที่เรือนของตนในวันพรุ่งนี้ อนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ฟังคำว่า “พระพุทธเจ้า” เท่านั้นเอง ก็รู้สึกแปลกประหลาดใจ จึงย้อนถามถึงสามครั้งเพื่อให้แน่ใจ เพราะคำว่า “พระพุทธเจ้า” นี้เป็นการยากยิ่งนักที่จะได้ยินในโลกนี้ เมื่อราชคหกเศรษฐีกล่าวยืนยันว่า “ขณะนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก” จึงเกิดปีติและศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ปรารถนาจะไปเข้าเฝ้า
พระพุทธองค์ในทันที่นั้น แต่ราชคหกเศรษฐียับยั้งไว้ว่ามิใช่เวลาแห่งการเข้าเฝ้า จึงรอจนรุ่งเช้า ก็รีบไปเข้าเฝ้าก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปยังบ้านราชคหกเศรษฐี ได้ฟังอนุปุพพิกถา และ อริยสัจสี่จากพระพุทธเจ้าแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดถวาย อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ช่วยอังคาสถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ ครั้นเสร็จภัตตากิจแล้วก็ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเพื่อเสด็จไปประกาศพระศาสนายังเมืองสาวัตถี พร้อมทั้งกราบทูลว่า จะสร้างพระอารามถวายเมืองสาวัตถีนั้น พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาตามคำกราบทูล
อนาถบิณฑิกเศรษฐี รู้สึกปราบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง รีบเดินทางกลับสู่กรุงสาวัตถี
โดยด่วน ในระหว่างทางจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงสาวัตถี ระยะทาง ๕๔ โยชน์ ได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากให้สร้างวิหารที่ประทับเป็นที่พักทุก ๆ ระยะหนึ่งโยชน์ เมื่อถึงกรุงสาวัตถีแล้วได้ติดต่อขอซื้อที่ดินจากเจ้าชายเชตราชกุมาร โดยได้ตกลงราคาด้วยการนำเงินปูลาดให้เต็มพื้นที่ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าเศรษฐีใช้เงินถึง ๒๗ โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก ๒๗ โกฏิ เป็นค่าก่อสร้างพระคันธกุฏีที่ประทับของพระบรมศาสดา และเสนาสนะสงฆ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔ โกฏิ แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้มประตูพระอาราม ขณะนั้น เจ้าชายเชตราชกุมารได้แสดงความประสงค์ขอเป็นผู้จัดสร้างถวาย โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ที่ซุ้มประตูพระอาราม ดังนั้นพระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “เชตวนาราม” เศรษฐีทำบุญจนหมดตัว
เมื่อการก่อสร้างพระอารามเสร็จแล้วได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วย
พระภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าประทับจัดพิธีฉลองพระอารามอย่างมโหฬารนานถึง ๙ เดือน (บางแห่งว่า ๕ เดือน) ได้จัดถวายอาหารบิณฑบาตอันประณีตแก่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพิธีฉลองพระอารามเสร็จสิ้นลงแล้วได้กราบอาราธนาพระภิกษุจำนวนประมาณ ๒๐๐ รูป ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตนทุกวันตลอดกาลอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำบุญโดยทำนองนี้ ทั้งให้ทานแก่คนยากจน และการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ จนกระทั่งทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมไว้ลดน้อยลงไปโดยลำดับ ทรัพย์ที่หาได้มาใหม่ก็ไม่เท่ากับจ่ายออกไป ภัตตาหารที่จัดถวายพระภิกษุสงฆ์ก็ลดลงทั้งคุณภาพและปริมาณ จนที่สุดข้าวที่หุงถวายพระก็จำเป็นต้องใช้ข้าวปลายเกวียน กับข้าวก็เหลือเพียงน้ำ
ผักเสี้ยนดอง ตนเองก็พลอยอดอยากลำบากไปด้วย ถึงกระนั้นเศรษฐีก็ยังไม่ลดละการทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ได้แต่กราบเรียนให้พระภิกษุสงฆ์ทราบว่า ตนเองไม่สามารถจะจัดถวายอาหารอันประณีตมีรสเลิศเหมือนเมื่อก่อนได้ เพราะขาดปัจจัยที่จะจัดหาพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นปุถุชนก็พากันไปรับอาหารบิณฑบาตที่ตระกูลอื่นที่ถวายอาหารมีรสเลิศกว่า เศรษฐีขับไล่เทวดา
ขณะนั้นเทวดาตนหนึ่งผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ไม่เลื่อมใสพุทธศาสนา เบื่อระอาที่พระภิกษุสงฆ์เดินรอดซุ้มประตูเข้าออกทุกวัน เพราะในขณะที่ภิกษุสงฆ์เดินรอดซุ้มประตูนั้นตนไม่สามารถจะอยู่บนซุ้มประตูได้ เมื่อเห็นเศรษฐีกลับกลายมีฐานะยากจนลงเพราะทำบุญแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงปรากฎกายต่อหน้าท่านเศรษฐีกล่าวห้ามปรามให้เศรษฐีเลิกทำบุญเสียเถิด แล้วทรัพย์สินเงินทองก็จะเพิ่มพูนขึ้นเหมือนเดิม ท่านเศรษฐีจึงถามว่า
“ท่านเป็นใคร ?”
“ข้าพเจ้าเป็นเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของท่าน”
“ดูก่อนเทวดาอันธพาล เราไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการฟังคำพูดของท่าน ขอท่านจง
ออกไปจากซุ่มประตูเรือนของเรา อย่ามาให้ข้าพเจ้าเห็นอีกเป็นอันขาด”
เทวดาตกใจ ไม่สามารถจะอยู่ที่ซุ่มประตูเรือนของเศรษฐีได้อีกต่อไป กลายเป็นเทวดา
ไร้ที่สิงสถิต ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เข้าไปหาเทวดาผู้มีศักดิ์สูงกว่าตนให้ช่วยเหลือแต่ไม่มีเทวดาองค์ใดจะสามารถช่วยได้ เพียงแต่บอกอุบายให้ว่า “ทรัพย์เก่าของเศรษฐีจำนวน๘๐ โกฏิ ซึ่งใส่ภาชนะฝังไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำถูกน้ำเซาะตลิ่งพังจมหายไปในสายน้ำ ท่านจงไปนำทรัพย์เหล่านั้นกลับคืนมามอบให้ท่านเศรษฐี แล้วท่านเศรษฐีก็จะหายโกรธยกโทษให้ และอนุญาตให้อยู่อาศัยที่ซุ้มประตูบ้านดังเดิมได้”
เทวดาทำตามนั้น ได้นำทรัพย์เหล่านั้นมามอบให้เศรษฐีด้วยอำนาจฤทธิ์เทวดา เมื่อ
เศรษฐียกโทษให้แล้วได้อยู่ ณ สถานที่เดิมของตนสืบไป
ต้นแบบการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
พุทธบริษัทผู้ใฝ่บุญนั้น ย่อมปรารภเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมาเป็นเรื่องทำบุญได้เสมอ
เช่นเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี นี้ วันหนึ่งหลานของท่านเล่นตุ๊กตาที่ทำจากแป้งแล้วหล่นลงแตก หลานร้องไห้ด้วยความเสียดายตุ๊กตา เพราะไม่มีตุ๊กตาจะเล่น ท่านเศรษฐีได้ปลอบโยนหลานว่า
“ไม่เป็นไร เราช่วยกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตากันเถิด” ปรากฏว่าหลานหยุด
ร้องไห้ รุ่งเช้า ท่านจึงพาหลายช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตาข่าวการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตาของท่านเศรษฐี แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว
ประชาชนชาวพุทธบริษัททั้งหลาย เห็นเป็นเรื่องแปลกและเป็นสิ่งที่ดีที่ควรกระทำ ดังนั้นเมื่อญาติผู้เป็นที่รักของตนตายลงก็พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เหมือนอย่าที่ท่านเศรษฐีกระทำนั้น และถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
มอบภารกิจของตนให้ลูกหลาน ตามปกติทุก ๆ วัน ภิกษุทั้งหมดผู้อยู่ในกรุงสาวัตถีจะรับนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี และในบ้านของนางวิสาขาดังนั้น บุคคลอื่น ๆ ผู้ประสงค์จะ ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ก็ต้องมาขอโอกาสแก่ท่านทั้งสองนี้ เมื่อนิมนต์พระได้แล้วก็ต้องเชิญท่านทั้งสองนี้ไปเป็นประธานที่ปรึกษาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะท่านทั้งสองทราบดีว่าควรประกอบควรปรุงอาหารอย่างไรให้ต้องกับอัธยาศัยและวินัยของพระ ควรจัดสถานที่อย่างไรจึงจะเหมาะสม นอกจากนี้ก็เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านเรือนที่จัดงานอีกด้วย ดังนั้นท่านทั้งสองจึงไม่ค่อยมีเวลาอยู่ปฏิบัติเลี้ยงดูพระภิกษุที่นิมนต์มาฉันที่บ้านของตน นางวิสาขาจึงได้มอบหมายภารกิจหน้าที่นี้แก่หลานสาว
ส่วนอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้มอบให้แก่ลูกสาวคนโตชื่อว่า “มหาสุภัททา” นางได้ทำ
หน้าที่นี้อยู่ระยะหนึ่ง ได้ฟังธรรมจากพระคุณเจ้าแล้วได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อมาได้แต่งงานแล้วก็ติดตามไปอยู่ในสกุลของสามี จากนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้มอบหมายให้ลูกสาวคนที่สองชื่อว่า “จุลสุภัททา” นางก็ทำหน้าที่แทนบิดาด้วยดีโดยตลอด และก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ต่อจากนั้นไม่นาน นางก็ได้แยกไปอยู่กับครอบครัวของสกุลสามี อนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงได้มอบหน้าที่ให้ลุกสาวคนเล็กชื่อว่า “สุมนาเทวี” กระทำแทนสืบมา ลูกสาวป่วยเรียกบิดาว่าน้องชาย
สุมนาเทวี ทำหน้าที่ด้วยความขยันเข้มแข็ง งานสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยทุกวัน
ทั้ง ๆ ที่นางอายุยังน้อย จากการที่นางได้ทำบุญถวายภัตตาหาร พระภิกษุสงฆ์และได้ฟังธรรมเป็นประจำ นางก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี แต่ต่อมานางได้ล้มป่วยลงมีอาการหนัก ใคร่อยากจะพบบิดา จึงให้คนไปเชิญบิดามาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ทราบว่าลูกสาวป่วยหนักก็รีบมาเยี่ยมโดยเร็ว พอมา
ถึงได้ถามลูกสาวว่า
“แม่สุมนา เจ้าเป็นอะไร ?”
“อะไรเล่า น้องชาย ?” ลูกสาวตอบ
“เจ้าเพ้อหรือ แม่สุมนา ?” บิดาถาม
“ไม่เพ้อหรอก น้องชาย” ลูกสาวตอบ
“แม่สุมนา ถ้าอย่างนั้น เจ้ากลัวหรือ ?” บิดาถาม
“ไม่กลัวหรอก น้องชาย”
นางสุมนาเทวี พูดโต้ตอบกับบิดาได้เพียงเท่านั้นก็ถึงแก่กรรม พระโสดาบันร้องไห้ไปกราบทูลพระศาสดา ท่านเศรษฐี แม้จะเป็นพระโสดาบัน ก็ไม่อาจจะกลั่นความเศร้าโศกเสียใจเพราะการจากไปของธิดาได้ เมื่อเสร็จงานศพและได้ร้องไห้น้ำตานองหน้าไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาพระพุทธองค์ได้ตรัสปลอบว่า
“อนาถบิณฑิกะ ก็ความตายเป็นสิ่งเที่ยงแท้ของสรรพสัตว์มิใช่หรือเหตุไฉนท่านจึง
ร้องไห้อย่างนี้ ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นข้าพระองค์ทราบดี แต่นางสุมนาเทวีธิดาของข้าพระ
องค์ เมื่อใกล้เวลาจวนจะตาย นางไม่สามารถคุมสติได้เลย นางบ่นเพ้อจนกระทั่งตาย ข้าพระองค์โทมนัสร้องไห้เพราะเหตุนี้ พระเจ้าข้า”
พร้อมทั้งได้กราบทูลถ้อยคำที่นางสุมนาเทวีเรียกตนเองว่าน้องชาย ถวายให้พระพุทธ
องค์ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคได้สดับแล้วตรัสว่า
“ดูก่อนมหาเศรษฐี บุตรของท่านมิได้เพ้อหลงสติอย่างที่ท่านเข้าใจ แต่ที่นางเรียก
ท่านว่าน้องชายนั้น ก็เพราะท่านเป็นน้องของนางจริง ๆ นางเป็นใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและ ผล เพราะท่านเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ธิดาของท่านเป็นพระสกทาคามี เป็นอริยบุคคลสูงกว่าท่าน และบัดนี้ นางได้ไปเกิดเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว นี่แหละคฤหบดี ธรรมดาบุคคลไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ถ้าอยู่ด้วยความไม่ประมาท ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็ย่อมเสวยสุขเพลินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้วหายจากความเศร้าโศกเสียใจกลับได้รับ
ความปีติเอิบอิ่มใจขึ้นมาแทน เมื่อควรแก่เวลาแล้วก็กราบทูลลากลับสู่เคหสถานของตน
เพราะความที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหว ฝักใฝ่ในการทำ
บุญให้ทาน ไม่มีผู้ใดจะเปรียบเทียบได้ พระพุทธองค์ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้เป็นทายก เป็นส่วนหนึ่ง ของ พระเศรษฐี นวโกฏิ

เมณฑกเศรษฐี

ถ้าจะพูดถึงอานิสงส์ก็คล้ายกับท่านเมณฑกเศรษฐี ในชาติรองลงไป ก่อนจะขึ้นมาเป็นเมณฑกเศรษฐี

ชาตินั้นมีวาระหนึ่งในระยะ 3 ปี เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ท่านถามปุโรหิตก่อนที่จะไปเฝ้าพระราชา ท่านถามว่า “ปุโรหิต จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?” ท่านปุโรหิตบอกว่า “ผมมีหน้าที่ในการพยากรณ์ ผมก็ตรวจชะตาของประเทศตลอดเวลา หลังจากนี้ต่อไป 3 ปี ข้าวจะยากหมากจะแพง ฝนจะแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล โรคคือความหิวที่ไม่มีอาหารจะบริโภคจะเกิดขึ้นกับประชาชน จะมีความยากลำบากมาก”

ท่านกลับมาบ้านสั่งทำนาเป็นการใหญ่ ตั้งฉางไว้ถึง 125 ฉาง (ถ้าผมจำไม่ผิดนะ จำนวนนี้ไม่แน่ อาจจะ 1 หรือ 1,125 ฉาง ผมจำไม่ได้) ทำข้าวแล้วก็เอาเงินไปซื้อของ ท่านเป็นเศรษฐี ซื้อข้าวใส่จนเต็ม เตรียมไว้กิน ในที่สุดข้าวทั้งหลายเหล่านั้นมันก็หมด หมดแล้วฝนยังไม่ตกเลย เกิดความลำบากมาก

ต่อมาวันหนึ่งท่านไปเฝ้าพระราชากลับมา ข้าวสารที่บ้านมันเหลือทะนานเดียว และคนที่บ้านมีตั้ง 5 คน ที่ว่า 5 คน เพราะว่าอะไร ตอนอด ๆ อยาก ๆ ท่านปล่อยให้คนรับใช้ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ พวกทาสไม่ต้องกลับมาอีก เมื่อข้าวดีอาหารดีจะกลับมาก็ได้ ไม่กลับมาก็ได้ ปล่อยเป็นอิสระ

วันนั้นท่านหิวจัด มาบ้านถามภรรยาว่า “ข้าวมีไหม”

ภรรยาก็ตอบว่า “มี มีอยู่ 1 ทะนาน”

ท่านก็เลยบอกว่า “ถ้าข้าวต้มเรากินได้ 2 วัน ถ้าหุงกินได้วันเดียว

ภรรยาก็บอก “ยังไง ๆ ก็หุง”

เมื่อ หุงข้าวขึ้น สุกกำลังจะกิน ก็พอดีมีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ท่านออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านก็พิจารณาว่าวันนี้จะได้ใครเป็นผู้สงเคราะห์เราบ้าง ก็ทราบว่าคนยากจนกันมาก ร่างกายมันต้องการอาหาร เวลาที่เข้านิโรธสมาบัติมันไม่หิว เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติมันหิว ก็เมื่อร่างกายต้องการอาหารก็ต้องหาให้มัน ทราบด้วยทิพจักขุญาณว่าบ้านนั้นนั่นแหละ (คือบ้านเมณฑกเศรษฐีบ้านนั้น) ถ้าไปแล้วเขาก็จะถวายแม้ข้าวจะมีทะนานเดียวเขาก็ถวาย จึงได้เหาะไปจากภูเขาคันธมาทน์ไปยืนอยู่เพื่อรับบิณฑบาต

ท่าน เมณฑกเศรษฐีเห็นเข้าก็คิดว่าชาติก่อนเราทำทานไว้น้อยจึงต้องอดอยากอย่างนี้ เราจะกินข้าวทะนานเดียวจะมีประโยชน์แก่เราวันเดียวเท่านั้น ถ้าเราใส่บาตรจะได้บุญใหญ่ต้องการบุญเพื่อชาติหน้าดีกว่าชาตินี้ยอมอดตาย จึงเอาข้าวไปใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า

พอใส่ไปได้ครึ่งหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเอาฝาบาตรปิดบาตร บอกว่า “พอแล้วโยม”

ท่านก็เลยบอกว่า “อย่าเพิ่งพอครับ ผมมันเลวมาก ชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ชาตินี้ขอได้โปรดรับให้หมดไปเพื่อประโยชน์ของผม”

พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ทรงรับ แล้วคนทั้งหมดก็ต่างคนต่างอธิษฐาน ต้องการความเป็นสุขทั้ง 5 คน ภรรยาของท่านอธิษฐานว่า “ขอ อำนาจบุญบารมีอันนี้ที่ใส่บาตรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า เหมือนกับเหวี่ยงชีวิตลงไปในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะว่าข้าวมีเท่านั้นไม่ได้กินก็ตายกันแน่ ขอผลบุญบารมีอันนี้ในกาลต่อไป นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถ้าข้าวปลาอาหารที่จะแจกแก่บุคคลผู้ใด หุงเต็มหม้อแล้วตักไปแล้ว ให้มันแหว่งแค่ทัพพีเดียว จะตักเท่าไรก็ตามที ข้าวก็จะเต็มหม้ออยู่เสมอ แหว่งแค่ทัพพีต้น”

พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านให้พรว่า “เอวัง โหตุ” แปลว่า ปรารถนาสิ่งใด จงมีความปรารถนาสมหวังทุกประการ แล้วท่านก็ไป ท่านก็อธิษฐานจิตว่า เราควรจะทำความดีนี้ให้ปรากฏแก่เศรษฐีและบุคคลทุกคน ท่านเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ ท่านบันดาลด้วยกำลังฤทธิ์ของท่านให้ทั้ง 5 คน เห็นท่านไปตลอดเวลา พอไปถึงภูเขาคันธมาทน์แล้วก็มีพระปัจเจกพุทธเจ้านับเป็นพัน มารับบาตรจากท่าน ท่านก็ใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์จนหมด ข้าวในบาตรของท่านก็ไม่หมด ท่านก็ต่างคนต่างฉัน

ทุกคนเห็นแบบนั้นก็ ปลื้มใจว่า อำนาจของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นมากมายนัก ต่อมาหันหน้าเข้ามาในบ้าน ท่านมหาเศรษฐีหิวแล้วก็หิวมากขึ้น ใจมันอิ่มแต่ว่าท้องมันหิว จึงถามภรรยาว่า

“น้อง…ไอ้ข้าวตังก้นหม้อมันมีไหม”

ภรรยาของท่านก็แสนดี คำว่าไม่มีไม่เคยตอบ บอก “มีเจ้าค่ะ”

ท่านก็เลยบอก “ขอข้าวตังฉันเคี้ยวสักนิดเถอะฉันหิวแย่แล้ว”

ภรรยาก็ไปเปิดหม้อข้าว ที่ไหนได้ แทนที่จะมีแต่ข้าวตัง ข้าวสุกเต็มหม้อปรี่ ด้วยอำนาจของพระปัจเจกพุทธเจ้า เลยบอก “นาย..โอ้โฮ ข้าวเต็มหม้ออัศจรรย์จริง ๆ เมื่อกี้ฉันคดหมดแล้วนะ ความจริงข้าวตังมันก็ไม่เหลือ ที่ท่านถามฉัน ฉันก็พูดแบบเอาใจ คิดว่าจะเอาน้ำล้างหม้อให้ท่านบริโภค แต่ที่ไหนได้ข้าวสวยแล้วก็มีกลิ่นหอมมาก นิ่มนวลเหลือเกิน ร้อนกรุ่นเหมือนกับสุกใหม่ ๆ” (แต่ความจริงหม้อไม่ได้ตั้งเตา)

ท่านเศรษฐีก็เรียกลูกชาย ลูกสะใภ้ ทาสคือนายบุญไม่ยอมไปไหน มากินด้วยกันหมด กินหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไอ้ข้าวมันก็ไม่ยอมยุบ หม้อทั้งหม้อมันเต็ม แล้วก็ร้อนอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องหุงใหม่ เพราะไม่มีข้าวสารจะหุง จึงได้แจกชาวบ้าน บ้านใกล้เรือนเคียงใครมาก็แจก ๆ แจกกินกันจนอิ่มแล้วก็อิ่มอีก กี่เวลาก็ตาม คนมาเท่าไรก็ตามแจกกันดะ ในที่สุดคนทั้งบ้านคนทั้งเมืองต่างก็มาขอข้าวสุกจากท่าน ท่านก็แจกทั้งวันทั้งคืน ข้าวไม่ยอมหมด แหว่งไปแค่ทัพพีเดียว

ท่านบอกว่าอานิสงส์แจกไม่เลือกแบบนี้ ทำให้เมณฑกเศรษฐีหนึ่ง ภรรยาของท่านหนึ่ง ลูกชายของท่านหนึ่ง นางวิสาขามหาอุบาสิกา (สมัยนั้นเป็นลูกสะใภ้) หนึ่ง และนายบุญทาสีซึ่งเป็นทาสหนึ่ง มาเกิดร่วมกัน อยู่ในบ้านเดียวกันอีก พ่อก็มาเป็นพ่อ แม่ก็มาเป็นแม่ ลูกชายก็มาเป็นลูกชาย ลูกสะใภ้ก็มาเป็นลูกสะใภ้ นายบุญเคยอธิษฐานในสมัยนั้นว่าขอเป็นทาสเขาต่อไปเธอก็มาเป็นทาสรับใช้ แต่มีวาสนาบารมีเป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก เธอไม่ยอมออกจากบ้าน

พอท่านเมณฑกเศรษฐีเกิดขึ้นมาในครรภ์มารดา ปรากฎว่ามีแพะทองคำโตเท่าช้างบ้าง เท่าม้าบ้าง นับเป็นพันตัว ล้อมบ้านอยู่ และมีสายไหมในปาก อยากจะกินอะไรดึงปั๊บออกมาเป็นขนม นม เนย เป็นอาหารการบริโภค กินต้มกินแกงแบบไหนมีหมดตามความต้องการ ต้องการผ้าผ่อนท่อนสไบก็ได้ ต้องการ
เพชร นิลจินดาเงินทองเท่าไรก็ได้ เลยดึงกันใหญ่ แค่แพะก็รวยแล้ว แพะทองคำโตเท่าช้างบ้าง โตเท่าม้าบ้าง เป็นพันตัว ก็เหลือแหล่ แล้วกลับดึงเงินทองแก้วแหวนจินดาอีก มันก็รวยกันใหญ่รวยเป็นมหาเศรษฐีใหญ่ที่มีเงินนับไม่ได้

นี่แหละบรรดา เพื่อนภิกษุสามเณรและญาติโยมพุทธบริษัท การให้ทานในเบื้องต้นมันเป็นสุขอย่างนี้ นั้นหมายความว่าถ้าเรายังไม่เข้าถึงนิพพานเพียงใด เราก็จะเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ในเรื่องวัตถุที่จะพึงใช้พึงกิน จะมีความอุดมสมบูรณ์มาก

ฉะนั้น การที่บรรดาท่านทั้งหลายมีความเคารพในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ตั้งใจบำเพ็ญทานบารมี การตั้งใจบำเพ็ญทานบารมีคิดไว้เสมออย่างนี้ พวกเรานี่คิดจริง ๆ นะ จะมีอะไรเกิดขึ้น สังฆทานนี่เราถวายสังฆทานกันวันยังค่ำ ใครไปใครมาก็สังฆทาน สังฆทานอันนี้มีอานิสงส์เลิศ พระพุทธเจ้าบอกเกิดกี่ชาติ ๆ ความจนจะไม่พบ สาธารณทานเราก็ทำ ทำตั้งแต่เชียงรายไปยันที่ไหน ตะวันออกก็สุด จันทบุรี ตะวันตกก็สุด กาญจนบุรี ทิศใต้ก็สุด ยะลา นราธิวาส เราก็ทำกันทั้งหมด ใครเขาอดที่ไหนเราไปกันที่นั้นตามกำลัง ทั้ง ๆ ที่หน่วยของเราศูนย์สงเคราะห์ฯนี้มีทุนน้อย แต่ว่ากำลังใจคนดี เวลาเกิดเรื่องขึ้นมาทีต่างคนต่างร่วมกัน อย่างนี้คิดว่าองค์สมเด็จพระทรงธรรม์คงจะทรงตรัสว่า “ทานของพวกเราคล้ายคลึงทานของท่านเมณฑกเศรษฐี” ถ้าบุญบารมีของเรายังไม่เต็มเพียงใด เกิดกี่ชาติก็เข้าใจว่าเป็นอย่างเมณฑกเศรษฐี แล้วบุญบารมีของท่านเมณฑกเศรษฐีนั้นชาติอีกชาติเดียว ท่านเกิดมาเป็นเมณฑกเศรษฐี ท่านก็เป็นพระอริยเจ้า ฟังเทศน์จบเดียวเป็นพระโสดาบันทั้งหมด

พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยภัททิยนครประทับอยู่ในชาติยาวัน๑- ทรงปรารภเมณฑกเศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “สุทสฺสํ วชฺชมญฺเญสํ” เป็นต้น.
____________________________
๑- ป่าไม้มะลิ.
พระศาสดาเสด็จไปภัททิยนคร                              ได้ยินว่า พระศาสดา เมื่อเสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตตราปถชนบททั้งหลาย ทรงเห็นอุปนิสัยโสดาปัตติผลของคนเหล่านี้ คือเมณฑกเศรษฐี ๑, ภรรยาของเศรษฐีนั้น ชื่อว่านางจันทปทุมา ๑, บุตรชื่อธนัญชัยเศรษฐี ๑, หญิงสะใภ้ชื่อนางสุมนเทวี ๑#-, หลานสาวชื่อวิสาขา ๑, ทาสชื่อปุณณะ ๑ จึงเสด็จไปสู่ภัททิยนคร ประทับอยู่ในชาติยาวัน. เมณฑกเศรษฐีได้สดับการเสด็จมาของพระศาสดาแล้ว.
____________________________
#- ที่อื่นๆ ว่า สุมนาเทวี.
เหตุที่ได้นามว่าเมณฑกเศรษฐี                              ถามว่า “ก็เพราะเหตุไร เศรษฐีนั่นจึงชื่อว่า เมณฑกเศรษฐี?”
               แก้ว่า ได้ยินว่า แพะทองคำทั้งหลายประมาณเท่าช้าง ม้าและโคอุสภะชำแรกแผ่นดิน เอาหลังดุนหลังกันผุดขึ้นในที่ประมาณ ๘ กรีส ที่ข้างหลังเรือนของเศรษฐีนั้น. บุญกรรมใส่กลุ่มด้าย ๕ สีไว้ในปากของแพะเหล่านั้น. เมื่อมีความต้องการด้วยเภสัชมีเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น หรือด้วยวัตถุมีผ้าเครื่องปกปิด เงินและทองเป็นต้น ชนทั้งหลายย่อมนำกลุ่มด้ายออกจากปากของแพะเหล่านั้น. เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ผ้าเครื่องปกปิด เงินและทอง ย่อมไหลออกจากปากแพะแม้ตัวหนึ่ง ก็เป็นของเพียงพอแก่ชาวชมพูทวีป. จำเดิมแต่นั้นมา เศรษฐีนั้นจึงปรากฏว่า เมณฑกเศรษฐี.
บุรพกรรมของท่านเศรษฐี                              ถามว่า ก็บุรพกรรมของเศรษฐีนั้นเป็นอย่างไร?
               แก้ว่า ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เศรษฐีนั้นเป็นหลานของกุฎุมพีชื่ออวโรชะ ได้มีชื่อว่า อวโรชะ ซึ่งมีชื่อพ้องกับลุง.
               ครั้งนั้น ลุงของเขาปรารภเพื่อจะสร้างพระคันธกุฎีเพื่อพระศาสดา.
               เขาไปสู่สำนักของลุงแล้ว กล่าวว่า “ลุง แม้เราทั้งสองจงสร้างรวมกันทีเดียว” ในเวลาที่ถูกลุงนั้นห้ามว่า “เราคนเดียวเท่านั้นจักสร้างไม่ให้สาธารณะกับด้วยชนเหล่าอื่น” จึงคิดว่า “เมื่อลุงสร้างคันธกุฎีในที่นี้แล้ว, เราควรได้ศาลารายในที่นี้”
               จึงให้คนนำเครื่องไม้มาจากป่า ให้ทำเสาอย่างนี้ คือ “เสาต้นหนึ่งบุด้วยทองคำ, ต้นหนึ่งบุด้วยเงิน, ต้นหนึ่งบุด้วยแก้วมณี”
               ให้ทำขื่อ พรึง บานประตู บานหน้าต่าง กลอน เครื่องมุงแลอิฐ แม้ทั้งหมดบุด้วยวัตถุมีทองคำเป็นต้นเทียว ให้ทำศาลารายสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ แด่พระตถาคตในที่ตรงหน้าพระคันธกุฎี
               ในเบื้องบนแห่งศาลารายนั้นได้มีจอมยอด ๓ ยอด อันสำเร็จแล้วด้วยทองคำอันสุกเป็นแท่ง แก้วผลึกและแก้วประพาฬ, ให้สร้างมณฑปประดับด้วยแก้ว ในที่ท่ามกลางแห่งศาลาราย.
               ให้ตั้งธรรมาสน์ไว้. เท้าธรรมาสน์นั้นได้สำเร็จด้วยทองคำสีสุกเป็นแท่ง, แม่แคร่ ๔ อันก็เหมือนกัน แต่ให้กระทำแพะทองคำ ๔ ตัวตั้งไว้ในภายใต้แห่งเท้าทั้ง ๔ แห่งอาสนะ, ให้กระทำแพะทองคำ ๒ ตัวตั้งไว้ภายใต้ตั่งสำหรับรองเท้า, ให้กระทำแพะทองคำ ๖ ตัวตั้งแวดล้อมมณฑป. ให้ถักธรรมาสน์ด้วยเชือกเส้นเล็กสำเร็จด้วยด้ายก่อนแล้ว จึงให้ถักด้วยเชือกอันสำเร็จด้วยทองคำในท่ามกลาง แล้วให้ถักด้วยเชือกสำเร็จด้วยแก้วมุกดาในเบื้องบน.
               พนักแห่งธรรมาสน์นั้น ได้สำเร็จด้วยไม้จันทน์.
               ครั้นให้ศาลารายสำเร็จอย่างนี้แล้ว เมื่อจะกระทำการฉลองศาลา จึงนิมนต์พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสน ได้ถวายทานตลอด ๔ เดือน. ในวันสุดท้ายได้ถวายไตรจีวร. บรรดาภิกษุเหล่านั้น จีวรมีค่าพันหนึ่ง ถึงแก่ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์แล้ว.
               เขาทำบุญกรรมในกาลแห่งพระวิปัสสีพุทธเจ้าอย่างนั้นแล้ว เคลื่อนจากอัตภาพนั้น ท่องเที่ยวไปในเทวดาและในมนุษย์ทั้งหลาย. ในภัทรกัปนี้ เกิดในสกุลเศรษฐีมีโภคะมากในกรุงพาราณสี ได้มีนามว่า พาราณสีเศรษฐี.
เศรษฐีประสบฉาตกภัย                              วันหนึ่ง เศรษฐีไปสู่ที่บำรุงพระราชา พบปุโรหิต จึงกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ท่านตรวจดูฤกษ์ยามหรือ?”
               ปุโรหิต. ขอรับ ผมตรวจดู, เราทั้งหลายจะมีการงานอะไรอื่น?
               เศรษฐี. ถ้าอย่างนั้น ความเป็นไปในชนบทจักเป็นเช่นไร?
               ปุโรหิต. ภัยอย่างหนึ่ง จักมี.
               เศรษฐี. ชื่อว่าภัยอะไร?
               ปุโรหิต. ฉาตกภัย๑- ท่านเศรษฐี.
               เศรษฐี. จักมี เมื่อไร?
               ปุโรหิต. จักมี โดยล่วงไป ๓ ปี แต่ปีนี้.
____________________________
๑- ภัยคือความอดอยากหรือความหิว.

               เศรษฐีฟังคำนั้นแล้วให้บุคคลทำกสิกรรมเป็นอันมาก รับ (ซื้อ) จำเพาะข้าวเปลือกแม้ด้วยทรัพย์ที่มีอยู่ในเรือน ให้กระทำฉาง ๑,๒๕๐ ฉาง บรรจุฉางทั้งหมดให้เต็มด้วยข้าวเปลือก. เมื่อฉางไม่พอก็บรรจุภาชนะมีตุ่มเป็นต้นให้เต็มแล้ว ขุดหลุมฝังข้าวเปลือกที่เหลือในแผ่นดิน. ให้ขยำข้าวเปลือกที่เหลือจากที่ฝั่งไว้กับด้วยดิน ฉาบทาฝาทั้งหลาย.
               โดยสมัยอื่นอีก เศรษฐีนั้นเมื่อภัยคือความอดอยากถึงเข้าแล้ว ก็บริโภคข้าวเปลือกตามที่เก็บไว้. เมื่อข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในฉางและในภาชนะมีตุ่มเป็นต้นหมดแล้ว จึงให้เรียกชนผู้เป็นบริวารมาแล้ว กล่าวว่า “พ่อทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงไป จงเข้าไปสู่ภูเขาแล้วเป็นอยู่ ประสงค์จะมาสู่สำนักของเรา ก็จงมาในเวลาที่มีภิกษาอันหาได้ง่าย ถ้าไม่อยากจะมา ก็จงเป็นอยู่ในที่นั้นเถิด.”
               ชนเหล่านั้นได้กระทำเหมือนอย่างนั้นแล้ว.
               ส่วนทาสผู้ทำการรับใช้คนหนึ่ง๑- ชื่อว่าปุณณะ เหลืออยู่ในสำนักของเศรษฐีนั้น. รวมเป็นคน ๕ คนเท่านั้นคือ เศรษฐี ภรรยาของเศรษฐี บุตรของเศรษฐี บุตรสะใภ้ของเศรษฐีกับนายปุณณะนั้น (ที่ยังคงเหลืออยู่).
               ชนเหล่านั้น แม้เมื่อข้าวเปลือกที่ฝังไว้ในหลุมในแผ่นดินหมดสิ้นแล้ว. พังดินที่ฉาบไว้ที่ฝาแล้ว แช่น้ำ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยข้าวเปลือกที่ได้แล้วจากฝานั้น.
               ครั้งนั้น ภรรยาของเศรษฐีนั้น เมื่อความหิวครอบงำอยู่ เมื่อดินสิ้นไปอยู่ พังดินที่เหลืออยู่ในส่วนแห่งฝาทั้งหลายลงแล้ว แช่น้ำได้ข้าวเปลือกประมาณกึ่งอาฬหกะ๒- ตำแล้ว ถือเอาข้าวสารประมาณทะนานหนึ่ง ใส่ไว้ในหม้อใบหนึ่ง เพราะความกลัวแต่โจรว่า “ในเวลาเกิดฉาตกภัย พวกโจรมีมาก” ปิดแล้วฝังตั้งไว้ในแผ่นดิน.
____________________________
๑- เวยฺยาวจฺจกโร โดยพยัญชนะแปลว่า ผู้กระทำซึ่งกรรมแห่งบุคคลผู้ขวนขวาย.
๒- อาฬหกะหนึ่งคือ ๔ ทะนาน กึ่งอาฬหกะ = ๒ ทะนาน.

               ลำดับนั้น เศรษฐีมาจากที่บำรุงแห่งพระราชาแล้ว กล่าวกะนางว่า “นางผู้เจริญ ฉันหิว อะไรๆ มีไหม?” นางนั้นไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่มีอยู่ว่า “ไม่มี” กล่าวว่า “นาย ข้าวสารมีอยู่ทะนานหนึ่ง.”
               เศรษฐี. ข้าวสารทะนานหนึ่งนั้น อยู่ที่ไหน?
               ภรรยา. ฉันฝั่งตั้งไว้ เพราะกลัวแต่โจร.
               เศรษฐี. ถ้ากระนั้น หล่อนจงขุดมันขึ้นมาแล้ว หุงต้มอะไรๆ เถิด.
               ภรรยา. ถ้าเราจักต้มข้าวต้ม ก็จักเพียงพอกัน ๒ มื้อ, ถ้าเราจักหุงข้าวสวย ก็จักเพียงพอเพียงมื้อเดียวเท่านั้น. ฉันจักหุงต้มอะไรล่ะ? นาย.
               เศรษฐี. ปัจจัยอย่างอื่นของพวกเราไม่มี พวกเราต่อบริโภคข้าวสวยแล้วก็จักตาย. หล่อนจงหุงข้าวสวยนั่นแหละ.
               ภรรยาแห่งเศรษฐีนั้นหุงข้าวสวยแล้ว แบ่งให้เป็น ๕ ส่วนคดข้าวสวยส่วนหนึ่งวางไว้ข้างหน้าของเศรษฐี.
เศรษฐีถวายภัตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า                              ในขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งที่ภูเขาคันธมาทน์ ออกจากสมาบัติ. ทราบว่า ในภายในสมาบัติ ความหิวย่อมไม่เบียดเบียน เพราะผลแห่งสมาบัติ แต่ว่า เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายออกจากสมาบัติแล้ว ความหิวมีกำลังย่อมเกิดขึ้น เป็นราวกะว่าเผาพื้นท้องอยู่. เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นตรวจดูฐานะที่จะได้ (อาหาร) แล้ว จึงไป.
               ก็ในวันนั้น ชนทั้งหลายถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ย่อมได้สมบัติ บรรดาสมบัติมีตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้นั้นตรวจดูอยู่ด้วยทิพยจักษุ ดำริว่า ฉาตกภัยเกิดขึ้นแล้วในชมพูทวีปทั้งสิ้น และในเรือนเศรษฐี เขาหุงข้าวสุก๑- อันสำเร็จด้วยข้าวสารทะนานหนึ่งเท่านั้นเพื่อคน ๕ คน; ชนเหล่านั้นจักมีศรัทธา หรืออาจเพื่อจะทำการสงเคราะห์แก่เราหรือหนอแล?” เห็นความที่ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา ทั้งสามารถเพื่อจะทำการสงเคราะห์ จึงถือเอาบาตรจีวรไปแสดงตนยืนอยู่ที่ประตู (เรือน) ข้างหน้าของเศรษฐี.
____________________________
๑- แปลหักประโยคกรรมเป็นประโยคกัตตุ.

               เศรษฐีนั้น พอเห็นท่านเข้าก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่า “เราประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ เพราะความที่เราไม่ให้ทานแม้ในกาลก่อน. ก็แลภัตนี้พึงรักษาเราไว้สิ้นวันเดียวเท่านั้น, ส่วนภัตที่เราถวายแล้วแก่พระผู้เป็นเจ้า จักนำประโยชน์เกื้อกูลมาแก่เราหลายโกฏิกัป” แล้วนำถาดแห่งภัตนั้นออกมา เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นิมนต์ให้เข้าไปสู่เรือน.
               เมื่อท่านนั่งบนอาสนะแล้ว จึงล้างเท้า (ของท่าน) วาง (ถาดภัต) ไว้บนตั่งทอง แล้วถือเอาถาดภัตนั้น มาตักลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า. เมื่อภัตเหลือกึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเอามือปิดบาตรเสีย.
               ทีนั้น เศรษฐีจึงกล่าวกะพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งข้าวสุกที่เขาหุงไว้เพื่อคน ๕ คน ด้วยข้าวสารทะนานหนึ่ง, กระผมไม่อาจเพื่อจะแบ่งภัตนี้ให้เป็น ๒ ส่วน, ขอท่านจงอย่ากระทำการสงเคราะห์แก่กระผมในโลกนี้เลย, กระผมใคร่เพื่อจะถวายไม่ให้มีส่วนเหลือ” แล้วได้ถวายภัตทั้งหมด.
               ก็แลครั้นถวายแล้วได้ตั้งความปรารถนาว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าอย่าได้ประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ ในที่ข้าพเจ้าเกิดอีกเลย ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าพึงสามารถเพื่อจะให้ภัตอันเป็นพืชแก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ไม่พึงทำการงานเลี้ยงชีพด้วยมือของตนเอง ในขณะที่ข้าพเจ้าใช้ให้คนชำระฉาง ๑,๒๕๐ ฉางแล้ว สนานศีรษะนั่งอยู่ที่ประตูแห่งฉางเหล่านั้นแล้ว แลดูในเบื้องบนเท่านั้น ธารแห่งข้าวสาลีแดง พึงตกลงมายังฉางทั้งหมดให้เต็มเพื่อข้าพเจ้า และผู้นี้นั่นแหละจงเป็นภรรยา ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นบุตร ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นหญิงสะใภ้ ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นทาสของข้าพเจ้า ในสถานที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วๆ.”
ทั้ง ๕ คนปรารถนาให้ได้อยู่ร่วมกัน                              ฝ่ายภรรยาของเศรษฐีนั้น ก็คิดว่า “เมื่อสามีของเราถูกความหิวเบียดเบียนอยู่ เราก็ไม่อาจเพื่อจะบริโภคได้” จึงถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ จำเดิมแต่นี้ ดิฉันไม่พึงประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ ในสถานที่ดิฉันเกิดแล้ว อนึ่ง แม้เมื่อดิฉันวางถาดภัตไว้ข้างหน้า ให้อยู่ซึ่งภัตแก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น, ดิฉันยังไม่ลุกขึ้นเพียงใด, ที่แห่งภัตที่ดิฉันตักแล้วๆ จงเป็นของบริบูรณ์อยู่อย่างเดิมเพียงนั้น ท่านผู้นี้แหละจงเป็นสามี ผู้นี้แหละจงเป็นบุตร ผู้นี้แหละจงเป็นหญิงสะใภ้ ผู้นี้แหละจงเป็นทาส (ของดิฉัน)”
               แม้บุตรของเศรษฐีนั้นก็ถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า “จำเดิมแต่นี้ไป ข้าพเจ้าไม่พึงประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้, อนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าถือเอาถุงกหาปณะหนึ่งพัน แม้ให้กหาปณะ แก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นอยู่ ถุงนี้จงเต็มอยู่อย่างเดิม ท่านทั้งสองนี้นั่นแหละจงเป็นมารดาบิดา หญิงคนนี้จงเป็นภรรยา ผู้นี้จงเป็นทาสของข้าพเจ้า.”
               แม้ลูกสะใภ้ของเศรษฐีนั้นถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็ตั้งความปรารถนาว่า “จำเดิมแต่นี้ไป ดิฉันไม่พึงพบเห็นฉาตกภัยเห็นปานนี้ อนึ่ง เมื่อดิฉันตั้งกระบุงข้าวเปลือกกระบุงหนึ่งไว้ข้างหน้า แม้ให้อยู่ซึ่งภัตอันเป็นพืชแก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ความหมดสิ้นไปอย่าปรากฏ, ท่านทั้งสองนี้นั่นแหละจงเป็นแม่ผัวและพ่อผัว ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นสามี. ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นทาส (ของดิฉัน).”
               แม้ทาสของเศรษฐีนั้นก็ถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็ตั้งความปรารถนาว่า “จำเดิมแต่นี้ไป ข้าพเจ้าไม่พึงพบเห็นฉาตกภัยเห็นปานนี้ คนเหล่านี้ทั้งหมดจงเป็นนาย และเมื่อข้าพเจ้าไถนาอยู่ รอย ๗ รอยประมาณเท่าเรือโกลน คือ “ข้างนี้ ๓ รอย ข้างโน้น ๓ รอย ในท่ามกลาง ๑ รอย จงเป็นไป.”
               นายปุณณะนั้นปรารถนาตำแหน่งเสนาบดีก็สามารถจะได้ในวันนั้นเทียว. แต่ว่า ด้วยความรักในนายทั้งหลาย เขาจึงตั้งความปรารถนาว่า “คนเหล่านี้นั่นแหละจงเป็นนายของข้าพเจ้า.”
               ในที่สุดแห่งถ้อยคำของชนทั้งหมด พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “จงเป็นอย่างนั้นเถิด” แล้วกระทำอนุโมทนาด้วยคาถาของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วคิดว่า “เรายังจิตของชนทั้งหลายเหล่านี้ให้เลื่อมใส ย่อมควร” จึงอธิษฐานว่า “ชนเหล่านี้จงเห็นเราจนถึงภูเขาคันธมาทน์” ดังนี้แล้วก็หลีกไป. แม้ชนเหล่านั้นได้ยืนแลดูอยู่เทียว.
               พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไปแล้วแบ่งภัตนั้นกับด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์. ด้วยอานุภาพแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ภัตนั้นเพียงพอแล้วแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด. ชนแม้เหล่านั้นได้ยืนแลดูอยู่ทีเดียว.
อานิสงส์ของการถวายทาน                              ก็เมื่อเวลาเที่ยงล่วงไปแล้ว ภรรยาเศรษฐีล้างหม้อข้าวแล้วปิดตั้งไว้.
               ฝ่ายเศรษฐีถูกความหิวบีบคั้น นอนแล้วหลับไป. เศรษฐีนั้นตื่นขึ้นในเวลาเย็น กล่าวกะภรรยาว่า “นางผู้เจริญ ฉันหิวเหลือเกิน ข้าวตัง๑- ก้นหม้อมีอยู่บ้างไหมหนอ?”
               ภรรยานั้น แม้ทราบความที่ตนล้างหม้อตั้งไว้แล้ว ก็ไม่กล่าวว่า “ไม่มี” คิดว่า “เราเปิดหม้อข้าวแล้วจึงจะบอก” ดังนี้แล้ว จึงลุกขึ้นไปสู่ที่ใกล้หม้อข้าว แล้วเปิดหม้อข้าว.
____________________________
๑- เมล็ดข้าวอันไฟไหม้ทั้งหลาย.

               ในขณะนั้นเอง หม้อข้าวเต็มด้วยภัต มีสีเช่นกับดอกมะลิตูม ได้ดุนฝาละมีตั้งอยู่แล้ว. ภรรยานั้นเห็นภัตนั้นแล้ว เป็นผู้มีสรีระอันปิติถูกต้องแล้ว
               กล่าวกะเศรษฐีว่า “จงลุกขึ้นเถิดนาย ดิฉันล้างหม้อข้าวปิดไว้ แต่หม้อข้าวนั้นนั่นเต็มด้วยภัต มีสีเช่นกับด้วยดอกมะลิตูม ชื่อว่าบุญทั้งหลายควรที่จะกระทำ ชื่อว่าทานควรจะให้ ขอท่านจงลุกขึ้นเถิด นาย บริโภคเสียเถิด.”
               ภรรยานั้นได้ให้ภัตแก่บิดาและบุตรทั้งสองแล้ว. เมื่อบิดาและบุตรนั้นบริโภคเสร็จแล้ว นางนั่งบริโภคกับด้วยลูกสะใภ้แล้ว ได้ให้ภัตแก่นายปุณณะ. ที่แห่งภัตอันชนเหล่านั้นตักแล้วๆ ย่อมไม่สิ้นไป. ปรากฏเฉพาะตรงที่ตักด้วยทัพพีคราวเดียวเท่านั้น.
               ในวันนั้นนั่นแล ฉางเป็นต้นก็กลับเต็มแล้วโดยทำนองที่เต็มในก่อนนั่นแล.
               นางให้กระทำการโฆษณาในเมืองว่า “ภัตเกิดขึ้นแล้วในเรือนของเศรษฐี ผู้มีความต้องการด้วยภัตอันเป็นพืช จงมารับเอา.”
               มนุษย์ทั้งหลายถือเอาภัตอันเป็นพืชจากเรือนของเศรษฐีนั้นแล้ว.
               แม้ชาวชมพูวีปทั้งสิ้นก็อาศัยเศรษฐีนั้น ได้ชีวิตแล้วนั่นแล.
เศรษฐีและคณะไปเกิดที่ภัททิยนคร                              เศรษฐีนั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในสกุลเศรษฐีในภัททิยนคร. แม้ภรรยาของเขาบังเกิดในสกุลมีโภคะมาก เจริญวัยแล้ว ก็ได้ไปสู่เรือนของท่านเศรษฐีนั้นนั่นเอง. แพะทั้งหลายมีประการดังกล่าวแล้ว อาศัยกรรมในกาลก่อนของเศรษฐีนั้นผุดขึ้นแล้วที่ภายหลังเรือน, แม้บุตรก็ได้เป็นบุตรของท่านเหล่านั้นแหละ, หญิงสะใภ้ก็ได้เป็นหญิงสะใภ้เหมือนกัน, ทาสก็ได้เป็นทาสเทียว.
               ต่อมาวันหนึ่ง ท่านเศรษฐีใคร่จะทดลองบุญของตน จึงให้คนชำระฉาง ๑,๒๕๐ ฉาง สนานศีรษะแล้ว นั่งที่ประตู แหงนดูเบื้องบน. ฉางแม้ทั้งหมดเต็มแล้วด้วยข้าวสาลีแดงมีประการดังกล่าวแล้ว.
               เศรษฐีนั้นใคร่จะทดลองบุญแม้ของชนที่เหลือ จึงกล่าวกะภรรยาและบุตรเป็นต้นว่า “เธอทั้งหลายจงทดลองบุญ แม้ของพวกเธอเถิด.”
               ลำดับนั้น ภรรยาของเศรษฐีนั้นประดับแล้วด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เมื่อมหาชนกำลังแลดูอยู่นั่นแล ใช้ให้คนตวงข้าวสารทั้งหลาย ให้หุงข้าวสวยด้วยข้าวสารเหล่านั้น นั่งบนอาสนะอันเขาปูลาดแล้วที่ซุ้มประตู ถือทัพพีทองคำแล้วให้ป่าวร้องว่า “ผู้มีความต้องการด้วยภัตจงมา” แล้วได้ให้จนเต็มภาชนะที่ชนผู้มาแล้วๆ รับเอา.
               เมื่อนางนั้นให้อยู่แม้จนหมดวัน ก็ปรากฏเฉพาะตรงที่ตักด้วยทัพพีเท่านั้น.
               ก็ปทุมลักษณะเกิดเต็มฝ่ามือข้างซ้าย จันทรลักษณะเกิดเต็มฝ่ามือข้างขวา เพราะนางจับหม้อข้าวด้วยมือซ้าย จับทัพพีด้วยมือขวา แล้วถวายภัตจนเต็มบาตรของภิกษุสงฆ์ แม้ของพระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้แล. ก็เพราะเหตุที่นางถือเอาธมกรกกรองน้ำถวายแก่ภิกษุสงฆ์ เที่ยวไปๆ มาๆ. ฉะนั้น จันทรลักษณะจึงเกิดเต็มฝ่าเท้าเบื้องขวาของนาง, ปทุมลักษณะจึงเกิดจนเต็มฝ่าเท้าเบื้องซ้ายของนางนั้น. เพราะเหตุนี้ ญาติทั้งหลายจึงขนานนามของนางว่า “จันทปทุมา”๑-
____________________________
๑- หมายความว่า มีลักษณะเหมือนพระจันทร์และดอกปทุม.

เป็นส่วนหนึ่ง ของ พระเศรษฐี นวโกฏิ

โชติกเศรษฐี ผู้มีสมบัติอันใครแย่งชิงไม่ได้ ในสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อว่า “โชติกะ” เป็นผู้มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง มีต้นกัลปพฤกษ์ มีนางแก้วจากอุตรกุรุทวีปเป็นภรรยา มีแก้วมณีส่องแสงสว่างทั้งกลางวันและกลางคืน มีปราสาท 7 ชั้น ล้วนประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการ มีกำแพง 7 ชั้น พร้อมด้วยยักษ์บริวารจำนวน 28,007 ตน อารักขาอยู่ตลอด 24 ชม. . . วันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารและเจ้าชายอชาตศัตรู ได้เสด็จไปเยี่ยมชมสมบัติของเศรษฐี ครั้นชื่นชมสมบัติอันเกิดจากบุญแล้ว ความปรารถนาในทรัพย์นั้น ได้มีแล้วแก่เจ้าชายอชาตศัตรู เมื่อพระองค์ปลงพระชนม์พระราชบิดา ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว จึงยกไพล่พลเพื่อจะยึดเอาปราสาทของเศรษฐี ในขณะที่เศรษฐีไปฟังธรรม ณ วัดพระเชตวัน ขณะนั้นหัวหน้ายักษ์ชื่อว่า “ยมโมลิ” ผู้รักษาซุ้มประตูที่ 1 เห็นพระราชายกไพร่พลมาแล้ว จึงร้องถามว่า “พวกท่านจะไปที่ไหน?” กำจัดแล้วซึ่งไพร่พลของพระเจ้าอชาตศัตรูจนแตกพ่าย พระราชาเสด็จหนีไปยังวัดพระเชตวัน  พระราชาเสด็จเข้าไปหาโชติกเศรษฐีแล้วตำหนิว่า “ท่านสั่งให้บริวารทำร้ายเรา แล้วทำเสมือนนั่งฟังธรรม”  เศรษฐีได้ยินดังนั้นจึงทูลถามว่า “พระองค์ยกกำลังไป เพื่อจะยึดปราสาทของข้าพเจ้าใช่หรือไม่?”  พระราชาตรัสว่า “ใช่ เราจะยึดปราสาทของท่าน”  เศรษฐีกราบทูลว่า “แม้พระราชาสัก 1,000 พระองค์ยกทัพมา ก็ยึดปราสาทของข้าพเจ้าไม่ได้ ถ้าข้าพเจ้าไม่อนุญาต” พระราชาตรัสว่า “ท่านต้องการเป็นพระราชาอย่างนั้นรึ?” เศรษฐีได้ยินดังนั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการเป็นพระราชา แต่ไม่ว่าพระราชาหรือโจรทั้งหลาย ก็ไม่สามารถช่วงชิงเอาแม้เพียงเส้นด้ายที่ชายพกของข้าพเจ้าได้ ถ้าข้าพเจ้าไม่อนุญาต” พระราชาตรัสว่า “ทำไมเราจักต้องยึดตามความชอบใจของท่านด้วยเล่า?” เศรษฐีกราบทูลว่า “ถ้าอย่างนั้นพระองค์จงลอง ช่วงชิงแหวนทั้ง 20 บนนิ้วมือทั้ง 10 ของข้าพเจ้าดูซิ ข้าพเจ้าไม่ถวาย แต่ถ้าทรงเอาไปได้ ก็จงเอาไปเถิด” . พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้มีกำลังมาก หากนั่งกระโหย่งสามารถกระโดดได้สูง 18 ศอก (72 เมตร) แต่ถ้ายืนจะสามารถกระโดดได้สูงถึง 80 ศอก (320 เมตร) ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถดึงแหวนที่อยู่บนนิ้วมือของโชติกเศรษฐีไปได้  นั้น เศรษฐีกราบทูลพระราชาว่า “ขอพระองค์ทรงปูลาดผ้าสาฏกเถิด” จากนั้นจึงทำให้แหวนทั้ง 20 วง หลุดออกจากนิ้วมืออย่างง่ายดาย แล้วตรัสกับพระราชาว่า “หากข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะมอบสมบัติให้ใคร ใครก็ไม่สามารถช่วงชิงสมบัติของข้าพเจ้าไปได้” ขณะนั้นเศรษฐีได้เกิดธรรมสังเวช จึงทูลขอประทานอนุญาตบรรพชาจากพระราชา พระเจ้าอชาตศัตรูคิดว่า `หากเศรษฐีบวชแล้ว ตนจักยึดสมบัติของเศรษฐีได้โดยสะดวก‘ จึงทรงประทานอนุญาต เมื่อเศรษฐีบวชแล้ว ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในเวลาไม่นาน มีนามว่า “พระโชติกเถระ”  สมบัติทั้งหลายทั้งปวงของเศรษฐีได้อันตรธานหายไปสิ้น แม้ปราสาทก็จมลงสู่แผ่นดิน แม้เทวดาก็ได้พาภรรยาของเศรษฐีกลับสู่อุตรกุรุทวีป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาปรารภเหตุแห่งพระเถระว่า

“บุคคลใด ในโลกนี้ ละขาดแล้ว ซึ่งตัณหาทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีเรือน พึงเว้นรอบ เราย่อมเรียกบุคคลนั้น ผู้มีตัณหาและภพสิ้นรอบแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์” ดังนี้ฯ

โชติกเศรษฐี

ผู้มีสมบัติอันใครแย่งชิงไม่ได้ ในสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อว่า “โชติกะ” เป็นผู้มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง มีต้นกัลปพฤกษ์ มีนางแก้วจากอุตรกุรุทวีปเป็นภรรยา มีแก้วมณีส่องแสงสว่างทั้งกลางวันและกลางคืน มีปราสาท 7 ชั้น ล้วนประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการ มีกำแพง 7 ชั้น พร้อมด้วยยักษ์บริวารจำนวน 28,007 ตน อารักขาอยู่ตลอด 24 ชม. . . วันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารและเจ้าชายอชาตศัตรู ได้เสด็จไปเยี่ยมชมสมบัติของเศรษฐี ครั้นชื่นชมสมบัติอันเกิดจากบุญแล้ว ความปรารถนาในทรัพย์นั้น ได้มีแล้วแก่เจ้าชายอชาตศัตรู เมื่อพระองค์ปลงพระชนม์พระราชบิดา ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว จึงยกไพล่พลเพื่อจะยึดเอาปราสาทของเศรษฐี ในขณะที่เศรษฐีไปฟังธรรม ณ วัดพระเชตวัน ขณะนั้นหัวหน้ายักษ์ชื่อว่า “ยมโมลิ” ผู้รักษาซุ้มประตูที่ 1 เห็นพระราชายกไพร่พลมาแล้ว จึงร้องถามว่า “พวกท่านจะไปที่ไหน?” กำจัดแล้วซึ่งไพร่พลของพระเจ้าอชาตศัตรูจนแตกพ่าย พระราชาเสด็จหนีไปยังวัดพระเชตวัน  พระราชาเสด็จเข้าไปหาโชติกเศรษฐีแล้วตำหนิว่า “ท่านสั่งให้บริวารทำร้ายเรา แล้วทำเสมือนนั่งฟังธรรม”  เศรษฐีได้ยินดังนั้นจึงทูลถามว่า “พระองค์ยกกำลังไป เพื่อจะยึดปราสาทของข้าพเจ้าใช่หรือไม่?”  พระราชาตรัสว่า “ใช่ เราจะยึดปราสาทของท่าน”  เศรษฐีกราบทูลว่า “แม้พระราชาสัก 1,000 พระองค์ยกทัพมา ก็ยึดปราสาทของข้าพเจ้าไม่ได้ ถ้าข้าพเจ้าไม่อนุญาต” พระราชาตรัสว่า “ท่านต้องการเป็นพระราชาอย่างนั้นรึ?” เศรษฐีได้ยินดังนั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการเป็นพระราชา แต่ไม่ว่าพระราชาหรือโจรทั้งหลาย ก็ไม่สามารถช่วงชิงเอาแม้เพียงเส้นด้ายที่ชายพกของข้าพเจ้าได้ ถ้าข้าพเจ้าไม่อนุญาต” พระราชาตรัสว่า “ทำไมเราจักต้องยึดตามความชอบใจของท่านด้วยเล่า?” เศรษฐีกราบทูลว่า “ถ้าอย่างนั้นพระองค์จงลอง ช่วงชิงแหวนทั้ง 20 บนนิ้วมือทั้ง 10 ของข้าพเจ้าดูซิ ข้าพเจ้าไม่ถวาย แต่ถ้าทรงเอาไปได้ ก็จงเอาไปเถิด” . พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้มีกำลังมาก หากนั่งกระโหย่งสามารถกระโดดได้สูง 18 ศอก (72 เมตร) แต่ถ้ายืนจะสามารถกระโดดได้สูงถึง 80 ศอก (320 เมตร) ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถดึงแหวนที่อยู่บนนิ้วมือของโชติกเศรษฐีไปได้  นั้น เศรษฐีกราบทูลพระราชาว่า “ขอพระองค์ทรงปูลาดผ้าสาฏกเถิด” จากนั้นจึงทำให้แหวนทั้ง 20 วง หลุดออกจากนิ้วมืออย่างง่ายดาย แล้วตรัสกับพระราชาว่า “หากข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะมอบสมบัติให้ใคร ใครก็ไม่สามารถช่วงชิงสมบัติของข้าพเจ้าไปได้” ขณะนั้นเศรษฐีได้เกิดธรรมสังเวช จึงทูลขอประทานอนุญาตบรรพชาจากพระราชา พระเจ้าอชาตศัตรูคิดว่า `หากเศรษฐีบวชแล้ว ตนจักยึดสมบัติของเศรษฐีได้โดยสะดวก‘ จึงทรงประทานอนุญาต เมื่อเศรษฐีบวชแล้ว ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในเวลาไม่นาน มีนามว่า “พระโชติกเถระ”  สมบัติทั้งหลายทั้งปวงของเศรษฐีได้อันตรธานหายไปสิ้น แม้ปราสาทก็จมลงสู่แผ่นดิน แม้เทวดาก็ได้พาภรรยาของเศรษฐีกลับสู่อุตรกุรุทวีป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาปรารภเหตุแห่งพระเถระว่า

“บุคคลใด ในโลกนี้ ละขาดแล้ว ซึ่งตัณหาทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีเรือน พึงเว้นรอบ เราย่อมเรียกบุคคลนั้น ผู้มีตัณหาและภพสิ้นรอบแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์” ดังนี้ฯ

สุมังคลเศรษฐี สมัยพระพุทธเจ้ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

กาลเมื่อพระบรมสุคตเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงเปรตงูเหลือมให้เป็นเหตุ แล้วทรงตรัสเล่าที่มาแห่งเปรตนั้น ให้แก่ภิกษุและมหาชนทั้งหลายได้สดับความว่า . . . ………….สมัยเมื่อพระมหาโมคคัลลานเถระเจ้า ออกจากที่พักพร้อมพระลักขณเถระ ในเวลาเช้าเพื่อเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ระหว่างทางพระมหาโมคคัลลานเถระเจ้า ได้แลด้วยทิพจักษุเห็นเปรตมีกายเป็นงูเหลือมยาว ๒๕ โยชน์ มีหัวเป็นมนุษย์ผมยาวปรากฏไฟลุกไหม้จากหัวจนถึงหาง จากหางลุกไหม้ขึ้นไปจนถึงหัว บางขณะก็ลุกไหม้หัวและหางมาจดกลางลำตัว จากกลางลำตัวไปถึงหัวและหาง สลับสับเปลี่ยนกันอยู่เช่นนี้ อัตภาพของเปรตนั้นได้รับทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัสพระมหาโมคคัลลานเถระ เห็นดังนั้นจึงยิ้มน้อยๆ ด้วยคิดว่าสัตว์ผู้มีร่างกายเช่นนี้เรามิได้เคยเห็นมาก่อน

ฝ่ายพระลักขณเถระ เดินมากับพระโมคคัลลานเถระ เห็นพระเถระยิ้มน้อยๆ ก็อดที่จะสงสัยเสียมิได้ ด้วยคิดว่าการที่พระอรหันต์ผู้ใหญ่จะยิ้มคงต้องมีเหตุ จึงเอ่ยปากถามว่า ข้าแต่พระมหาเถระผู้ใหญ่ ท่านมีเหตุอันใดทำไมถึงได้เดินยิ้ม พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงกล่าวแก่พระลักขณเถระว่า เวลานี้มิใช่เป็นเวลาที่จะตอบปัญหา เอาไว้ถามเราต่อหน้าพระบรมสุคตเจ้า ขณะเข้าไปเฝ้าก็แล้วกัน กล่าวดังนั้นแล้ว ท่านก็เดินนำพระลักขณะเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์

หลังจากกลับบิณฑบาตฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว พระมหาโมคคัลลานเถระจึงได้ชวนพระลักขณะเข้าไปเฝ้าพระบรมสุคตเจ้า พระลักขณเถระจึงได้เอ่ยปากถามปัญหาที่ค้างไว้ตอนเช้าว่า พระมหาโมคคัลลานะยิ้มด้วยเหตุอะไร พระมหาโมคคัลลานะจึงตอบปัญหานั้น ต่อหน้าพระพักตร์พระบรมสุคตเจ้าว่า เมื่อเช้าหลังจากเดินทางออกจากที่พักมาระหว่างทาง ข้าพเจ้าเห็นเปรตตนหนึ่งมีตัวเป็นงูเหลือมยาว ๒๕ โยชน์ มีหัวเป็นคนผมยาวปรากฏไฟลุกไหม้ตั้งแต่หัวมาจดหาง ไหม้ตั้งแต่หางมาจดหัว บางขณะก็ไหม้ตั้งแต่กลางลำตัวไปหัวและหาง สลับสับเปลี่ยนกันอยู่เช่นนี้ เปรตนั้นได้รับทุกข์เวทนาอันแรงกล้า ข้าพเจ้ามิเคยเห็นเปรตชนิดนี้มาก่อนจึงยิ้ม พระบรมสุคตเจ้า ทรงได้สดับคำของพระมหาโมคคัลลานเถระดังนั้นจึงทรงมีพุทธฏีกาตรัสว่า “เราตถาคตก็เคยเห็นเปรตชนิดนั้นมาแล้ว ขณะที่เราพำนักอยู่บริเวณต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ แต่เรามิได้แจ้งแก่ใคร เหตุเพราะจะมิมีผู้ใดเชื่อ ผู้คนพวกนั้นจะพลอยได้รับโทษ แต่มาบัดนี้โมคคัลลานะสามารถเห็นได้ด้วยทิพยจักษุ พอจะเป็นพยานยืนยันให้เราได้ เราจึงกล่าวว่าเคยเห็นเปรตตนนั้นมาก่อนแล้ว” ภิกษุทั้งหลายที่มาประชุมกันในขณะนั้น จึงทูลถามถึงบุพกรรมของเปรตนั้นว่ามีที่มาอย่างไร องค์สมเด็จพระจอมไตร จึงทรงตรัสเล่าว่า ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น มีเศรษฐีคนหนึ่งมีนามว่า สุมังคลเศรษฐี เป็นผู้มีทรัพย์มาก มียศมาก มีบริวารมาก มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบรมศาสดากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นยิ่งนัก ได้ทุ่มเทกำลังทรัพย์สร้างวิหารถวายพระบรมศาสดาให้เป็นที่ประทับพร้อมหมู่สงฆ์ พื้นที่โดยรอบวิหารปูลาดด้วยแผ่นอิฐทองคำ กว้างคูณยาว วัดได้ 100 วา เสร็จแล้วก็จัดให้มีพิธีฉลองวิหารนั้น ด้วยกำลังทรัพย์อีกมหาศาล

หนึ่ง สุมังคลเศรษฐีออกเดินทางจากที่พัก เพื่อไปเข้าเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างทางมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่ข้างทางหลังหนึ่ง สุมังคลเศรษฐีและบริวาร คิดจะเข้าไปนั่งพักให้หายเมื่อย แต่กลับพบบุรุษผู้หนึ่ง นอนคุดคู้มีผ้าคลุมหัวอยู่กลางศาลา ที่เท้านั้นก็เปื้อนโคลน สุมังคลเศรษฐี จึงกล่าวแก่บริวารว่า “ชะรอยคนผู้นี้คงจะเป็นคนชอบเที่ยวกลางคืนแล้วมาหลบนอนกลางวัน เราไม่ควรจะพักรวมชายคาเดียวกันกับคนเช่นนี้” กล่าวเช่นนี้แล้วก็ออกเดินทางต่อไป . .. บุรุษผู้ที่กำลังนอนอยู่นั้น ครั้นพอได้ยินเสียงผู้คนพูดคุยกันอยู่ภายในศาลาจึงเลิกผ้า ผงกหัวขึ้นมาดูหน้าเศรษฐีผู้พูด แล้วผูกใจเจ็บอาฆาต คิดว่าดีหล่ะ ตาเศรษฐีเฒ่ามาดูแคลนเรา เราจะหาวิธีแก้แค้นเสียให้สาสม แล้วก็ลงนอนต่อไป เวลาผ่านไปถึงยามบ่ายแก่ บุรุษผู้ที่นอนในศาลานั้นตื่นขึ้นมาแล้ว ก็ออกไปสืบถามถิ่นที่อยู่ของเศรษฐี จนรู้แน่ชัดแล้ว ตกราตรีบุรุษนั้นก็แอบไปจุดไฟเผานาข้าวของเศรษฐี จนข้าวที่สุกได้ที่แล้วพร้อมจะเก็บเกี่ยวถูกไฟเผาไหม้จนเสียหาย เท่านั้นยังไม่พอ บุรุษนั้นยังแอบเข้าไปเผายุ้งข้าวของสุมังคลเศรษฐีด้วย เขาได้เพียรพยายามจองล้างจองผลาญเผานาข้าวและยุ้งข้าวของเศรษฐีอยู่ถึง ๗ ครั้ง ก็หาได้ลดความคั่งแค้นลงไปได้ไม่ ต่อมาก็ย่องเข้าไปจุดไฟเผาเรือนของเศรษฐีอีก ๗ ครั้ง ซ้ำยังแอบเข้าไปในคอกปศุสัตว์ของเศรษฐี ทำการทารุณกรรมต่อฝูงวัวอยู่ถึง ๗ ครั้ง จนบรรดาวัวเหล่านั้นพิการเดินไม่ได้ในที่สุด บุรุษผู้จมปรักอยู่ในโลกแห่งความแค้น แม้จะจองเวรทำลายทรัพย์สินของเศรษฐีสักกี่ครั้งก็ยังไม่สาสมใจ จึงแสร้งเข้าไปตีสนิทกับหญิงรับใช้ของเศรษฐี แล้วหลอกถามว่า สุมังคลเศรษฐีนี้มีสิ่งใดเป็นที่รักใคร่ . นางหญิงรับใช้พอเห็นมีชายหนุ่มมาแสดงกิริยาเกี้ยวพาราสีทอดสะพาน นางจึงมอบไมตรีตอบด้วยความไว้วางใจ ไม่ว่าชายหนุ่มปรารถนาจะรู้สิ่งใด นางก็เล่าแจ้งแถลงจนหมดว่า ท่านสุมังคลเศรษฐีผู้เป็นนายของข้าพเจ้า เป็นผู้ดีมีน้ำใจงาม ไม่มีสิ่งใดที่นายท่านจะหวงแหนรักใคร่เทิดทูลเท่ากับวิหารและพระคันธกุฏี ซึ่งเป็นทบุรุษผู้โฉดชั่วนั้น ครั้นได้ฟังจึงคิดว่า ดีหละ ถ้าวิหารและพระคันธกุฎีเป็นที่โปรดปานรักใคร่ของไอ้เศรษฐีเฒ่า เราก็จะต้องหาทางไปเผาทำลายเพื่อระบายความแค้นเสียให้สมใจ ครั้นพอถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ องค์สมเด็จพระจอมไตรพร้อมบรรดาภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จออกไปบิณฑบาตตามแถวบ้าน บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น เมื่อรอดูรู้ว่าปลอดผู้คนในอาวาส จึงตรงเข้าไปทุบทำลายโอ่งน้ำ และภาชนะใส่น้ำเสียจนสิ้น แล้วจุดไฟเผาวิหารและพระคันธกุฎีเสียจนวอดมอดไหม้ ไม่มีเหลือแม้แต่เสากุฎี

. ข้างฝ่ายเศรษฐีสุมังคละ พอรู้ข่าวว่าไฟได้ไหม้วิหารและพระคันธกุฎีที่ตนสร้างถวายพระบรมศาสดา ก็รีบมาดู พอเห็นกองเถ้าถ่าน กระจายอยู่เกลื่อนกล่นแทนที่ที่ตนสร้างวิหารและพระคันธกุฎี เศรษฐีก็มิได้มีอาการปริวิตกหรือเสียใจเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับแสดงอาการดีใจ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่พอใจเป็นอย่างยิ่ง . บรรดาประชาชนคนที่มามุงดู พอได้เห็นอาการของสุมังคลเศรษฐีเช่นนั้น จึงพากันไต่ถามว่า “ท่านเศรษฐีบริจาคทุนทรัพย์จัดสร้างพระวิหารและพระคันธกุฎีไปตั้งมากหลาย เมื่อสิ่งที่ท่านจงใจสร้างโดนไฟเผาทำลายเสียจนสิ้น ทำไมท่านจึงแสดงอาการยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ดีอกดีใจ ท่านไม่รู้สึกเสียดายทรัพย์สินที่โดนเผาทำลายไปบ้างหรือ” สุมังคลเศรษฐีจึงกล่าวตอบแก่ผู้คนชนที่มามุงดูว่า “นาข้าวและยุ้งฉาง รวมทั้งเรือนของเราโดนไฟไหม้อย่างละเจ็ดครั้ง ถือได้ว่านั่นคือความสูญเสีย แต่พระวิหารและพระคันธกุฎี ที่เราสร้างถวายแด่พระบรมศาสดาและสงฆ์พุทธสาวก ด้วยเงินและทองเป็นอันมาก ถึงจะโดนไฟเผาไหม้มอดหมดไป เงินและทองนั้นก็มิได้หายไปไหนยังจะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ” . “เหตุที่เราดีใจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ก็เพราะเราจักได้มีโอกาสละเงินและทอง จัดสร้างพระคันธกุฎีถวายแด่พระบรมศาสดาและพระสงฆ์ จึงถือว่าเราจะสะสมอริยทรัพย์ให้เพิ่มพูนปรากฏในภพชาติต่อไป เช่นนี้จักมิให้เราดีใจได้กระไร” . เมื่อกล่าวเช่นนั้นแล้ว สุมังคลเศรษฐีจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลอาราธนาให้เสด็จพร้อมหมู่สงฆ์สาวก ไปประทับในที่อันควร ส่วนข้างหนึ่งของบริเวณอาวาสที่ตนสั่งให้บริวารจัดไว้ พร้อมทั้งทูลขอพุทธานุญาตจัดสร้างพระวิหารพร้อมพระคันธกุฎีถวายให้เป็นที่ประทับ สมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธะ ทรงรับด้วยอาการดุษฎี แล้วทรงเสด็จไปยังที่ที่เศรษฐีและบริวารจัดเตรียมไว้

สุมังคลเศรษฐี มีความลิงโลดยินดีเป็นยิ่งนัก ออกมาสั่งบริวารให้ระดมหาช่างชั้นเลิศรุมกันก่อสร้างพระวิหารและพระคันธกุฎีให้แล้วเสร็จภายใน ๓ เดือน เมื่อเสร็จแล้วเศรษฐีจึงสั่งให้ช่างทองหล่อทองคำให้เป็นแผ่นอิฐ นำมาปูพื้นบริเวณโดยรอบพระวิหารมีความกว้างคูณยาวเท่ากับพื้นที่เดิม แล้วสละทรัพย์ทำการเฉลิมฉลอง พร้อมถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าพร้อมหมู่สงฆ์มีประมาณ ๒ หมื่นองค์ตลอดเจ็ดวัน จึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับหมู่สงฆ์ให้เสด็จประทับภายในพระวิหารและพระคันธกุฎี . สิ้นสุดงานบุญสุมังคลเศรษฐี ให้มีจิตอิ่มเอิบยินดี ในกุศลผลบุญความดีที่ตนทำเป็นยิ่งนัก

. ข้างบุรุษผู้มีใจโฉดชั่ว หมกมุ่นอยู่ในแรงพยาบาท เห็นว่าเศรษฐีมิได้มีความเจ็บแค้นเดือดร้อน ต่อการที่วิหารและพระคันธกุฎีอันเป็นที่รักต้องโดนไฟเผาจนมอดไหม้กลายเป็นเถ้าธุลี บุรุษนั้นแทนที่จะระลึกถึงความดีที่มีอยู่ในจิตใจเศรษฐี กลับคิดว่า . ไอ้เศรษฐีเฒ่าผู้นี้ มันช่างยั่วยวนกวนโทษาเรายิ่งนัก เผานามันก็แล้ว เผายุ้งฉางมันก็แล้ว เผาเรือนมันก็แล้ว ทำลายคอกปศุสัตว์มันก็แล้ว แม้ที่สุดวิหารและพระคันธกุฎีอันเป็นที่รักโดนเราเผาทำลายกลายเป็นกองขึ้เถ้า มันยังมีกะใจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ระริกระรี่ สดชื่นใจ ไอ้เศรษฐีเฒ่านี้มันช่างไม่สะทกสะท้านอะไรซะเลย ถ้าไอ้เฒ่านี้ยังมีชีวิตอยู่ เราคงจะหาความสุขไม่ได้เป็นแน่แท้ ดีหละเราจะต้องหาวิธีฆ่าไอ้เศรษฐีเฒ่านี้ให้จงได้ พอรุ่งเช้าบุรุษผู้มีจิตคิดแต่เรื่องโฉดชั่วนั้น จึงได้จัดแจงนุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อหนา แล้วซ่อนมีดศาสตราเอาไว้ในผ้านุ่งของตน เดินตรงไปยังวิหาร เพื่อรอจังหวะที่จะฆ่าสุมังคลเศรษฐี บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น เฝ้ากระทำอยู่เช่นนี้ทุกๆ วัน จนสิ้นเวลาไป ๗ วัน ก็ยังไม่มีโอกาสเหมาะที่จะลงมือฆ่าเศรษฐีได้ . . สุมังคลเศรษฐี เมื่อกล่าวถวายวิหาร พระคันธกุฎี และโภชนาหารแด่พระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์สาวก ๒ หมื่นรูปแล้วครบ ๗ วัน วันต่อมาจึงได้เดินทางเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า . “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ วินาศภัยและอัคคีภัยที่เกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ ข้าพุทธเจ้ารู้มาว่า เป็นฝีมือของบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งเกิดจากแรงโทษาอาฆาตและริษยา เขาช่างเป็นบุคคลที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เขาได้มีความเพียรเป็นอันมาก ที่จะพยายามทำให้ข้าพระองค์ ต้องมีอันเป็นไป ไม่ว่าจะพยายามเผานาและยุ้งฉางถึง ๗ ครั้ง ต่อมาก็พยายามเผาเรือนของข้าพุทธเจ้าอีก ๗ ครั้ง อีกทั้งพยายามที่จะทำลายข้าพุทธเจ้า ด้วยการลอบเข้าไปในคอกปศุสัตว์ ทำร้ายโคขุนของข้าพุทธเจ้าให้ถึงกับพิการเดินไม่ได้ ด้วยการตัดเท้าโคทั้งหมดเสีย แลครั้งสุดท้ายก็แอบลอบเข้ามาทุบทำลายภาชนะใส่น้ำในอาวาส และเผาวิหารพร้อมพระคันธกุฎี กรรมอันนี้หนักหนาสาหัส จักมีผลให้เขาได้รับทุกขเวทนาในภพชาติต่อไป จึงถือได้ว่าเขาช่างหน้าสงสารยิ่งนัก” “ข้าพุทธเจ้าจึงขอยกผลบุญที่ข้าพุทธเจ้าจักพึงได้รับ ในการถวายมหาทานครั้งนี้แก่บุรุนั้นก่อนผู้อื่น เพื่อว่าเขาอาจจะสุขสบายขึ้นบ้างในโอกาสต่อไป” กล่าวฝ่ายบุรุษผู้มีจิตคิดชั่ว ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเสื้อหนา แล้วซ่อนมีดเอาไว้ภายในเครื่องนุ่งห่ม ปะปนรวมมากับผู้คนเพื่อรอโอกาสที่จะฆ่าสุมังคลเศรษฐีเสียให้หายแค้น ขณะที่เศรษฐีนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลสิ่งที่ตนปรารถนาแด่พระพุทธองค์ บุรุษนั้นก็นั่งปะปนอยู่กับฝูงชนในที่นั้นด้วย . ครั้นพอได้ฟังวาจาของสุมังคลเศรษฐี กล่าวถึงตนและแบ่งส่วนบุญของเศรษฐีให้แก่ตนก่อนผู้อื่น บุรุษผู้มีจิตคิดแต่ในเรื่องโฉดชั่วนั้น ก็มานึกว่า เออ… นี่เรากำลังจะทำอะไรนะ เราจ้องจองล้างจองผลาญแก่เศรษฐีถึงเพียงนี้ ซึ่งเขาก็รู้ว่าเราทำ แทนที่จะถือโทษโกรธเคืองแก่เรา เขากับมิได้ผูกโกรธ ซ้ำยังมีเมตตาแบ่งปันส่วนผลบุญ อันได้มายากให้แก่เราก่อนผู้อื่นอีก ดูเอาเถิด แม้บัดนี้เรายังจะคิดฆ่าเขาได้ลงคออีกหรือ ที่ผ่านมาเราได้เพียรที่จะกระทำกรรมอันชั่วช้าหนักหนาสาหัสแก่เขา ถ้าเรามิออกไปขอโทษแก่เขา แล้วขอให้เขายกโทษให้เรา ฟ้าคงจะต้องผ่าหัวเราให้แยกออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นแน่ . บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จึงออกมาจากที่ชุมชน แล้วเดินตรงเข้าไปคุกเข่าหมอบกราบลงแทบเท้าสุมังคลเศรษฐี กล่าวว่า “ข้าแต่นายผู้ประเสริฐ ขอท่านจงโปรดยกโทษในความผิดที่ข้าพเจ้าได้กระทำ พูด คิดแก่ท่าน ข้าพเจ้าขออภัยแก่ท่าน ณ โอกาสนี้” สุมังคลเศรษฐี พอได้ฟังจากปากบุรุษผู้นั้น ก็ถามขึ้นว่า . . “ดูก่อนสหาย ท่านจะให้เรายกโทษให้ด้วยเหตุอันใด ทำไมท่านถึงได้มาแสดงกิริยาประหวั่นงันงกเช่นนี้ด้วยเล่า ขอท่านจงบอกเล่าให้เราได้ฟังก่อน” . บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จึงได้เล่ารายละเอียดที่ตนจองเวรจองล้างจองผลาญต่อเศรษฐีว่าทำมาอย่างไร จนแม้ที่สุดถึงกับคิดจะฆ่าเสียให้ตาย ให้ท่านสุมังคลเศรษฐีได้ฟัง . สุมังคลเศรษฐี ครั้นได้สดับ ก็ให้นึกสงสัยว่า เอ..อยู่ดีๆ ทำไมบุรุษผู้นี้ถึงได้พยาบาทจองเวรแก่เราถึงเพียงนี้ จึงเอ่ยปากถาม . . . บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น จึงได้ขอให้เศรษฐีระลึกนึกถึงคำพูด ที่พูดแก่บ่างของตนในศาลาพักร้อนริมทางเมื่อครั้งกระโน้น แล้วบุรุษนั้นจึงกล่าวว่า “เหตุเพราะคำพูดที่เศรษฐีพูดดูแคลนแก่ข้าพเจ้า จึงทำให้ข้าพเจ้าผูกอาฆาตจองเวรมาถึงปัจจุบัน” . สุมังคลเศรษฐี เมื่อระลึกถึงคำพูดของตนในอดีตได้ ถึงกล่าวขอโทษ ขอให้บุรุษนั้นกรุณายกโทษนั้นให้แก่ตนด้วย แล้วก็กล่าวว่า “เอาหละสหาย จงลุกขึ้นเถิดเราได้ยกโทษแก่ท่านแล้ว เราเองก็ไม่ดี ที่พูดโดยไม่คิดว่าผู้อื่นจะได้ยิน จงลุกขึ้นเถอะนะ อย่ามานั่งคุกเข่าอยู่เช่นนี้เลย” . . . บุรุษนั้นจึงกล่าวว่า “ข้าแต่นายผู้ประเสริฐ ถ้าท่านยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าจริงๆ ขอนายท่านจงรับข้าพเจ้าพร้อมลูกเมีย ให้เป็นทาสรับใช้ในเรือนของท่าน ข้าพเจ้าและลูกเมียต้องการเพียงก้อนข้าวและหยดน้ำจากนายท่าน เพื่อประทังชีวิตให้อยู่ได้เท่านั้น มิต้องการสิ่งใดตอบแทนอีก ขอนายท่านโปรดจงให้โอกาสข้าพเจ้า และครอบครัวได้ถ่ายโทษด้วยวิธีนี้ด้วยเถิด”

สุมังคลเศรษฐี จึงกล่าวว่า “สหายเราให้สัจจะวาจาว่าจะไม่ถือโทษแก่ท่าน แต่เรามิอาจรับท่านและครอบครัวเข้ามาอยู่ในบ้านได้ ด้วยเหตุเพราะเราเกรงว่า เมื่อท่านมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกับเราแล้ว เราคงจะว่ากล่าวตักเตือนท่านมิได้ เพราะเพียงแต่ในอดีตเรากล่าวตำหนิท่านเล็กน้อย ท่านยังผูกอาฆาตต่อเราถึงเพียงนี้ เมื่อท่านมาอยู่ร่วมกับเรา วันข้างหน้าเราหรือจะกล้าว่ากล่าวตักเตือน ท่านจงไปเสียเถิดสหาย”

บุรุษนั้นได้ยอมรับการตัดสินใจของสุมังคลเศรษฐีแต่โดยดี แล้วจึงลาถอยออกมาจากที่ประชุม ครั้นพ้นเขตอาวาสแล้วไม่นาน ขณะที่บุรุษนั้นกำลังจะเดินกลับบ้าน ฉับพลันฟ้าก็ได้ฟาดลงมาโดนศรีษะของบุรุษผู้โฉดชั่วนั้นแตกเป็นเสี่ยงๆ ตายลงในที่สุด

บุรุษนั้นเมื่อตายลงแล้ว ด้วยกรรมชั่วที่เขาได้สั่งสมกระทำไว้ นำพาเขาให้ไปบังเกิดในอเวจีนรกหมกไหม้อยู่สิ้นระยะเวลา ๑ พุทธันดร (แสนมหากัป) จนลุถึงพระศาสนาของพระบรมศาสดาสมณโคดม จึงได้มาบังเกิดเป็นเปรตงูเหลือม วนเวียนอยู่ชายเขาคิดชฌกูฎชานกรุงราชคฤห์ จนปรากฏตัวให้แก่เราตถาคตและโมคคัลลานเถระได้เห็นในที่สุด

เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงที่มาของเปรตงูเหลือมจบลง พระองค์ก็ทรงโปรดแสดงผลที่คนพาล (คือคนขาดปัญญา) จะได้รับ ความว่า

“คนพาล (คนขาดปัญญา) ทำบาป (ทำความชั่ว) ย่อมไม่รู้สึกตัวว่าเราทำบาป ต่อเมื่อความเดือดร้อนเพราะผลแห่งการกระทำ ย่อมส่งให้ได้รับโทษให้จมอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมานจึงมารู้สึกตัวทีหลังก็ต่อเมื่อสายเสียแล้ว”

สรุป

บุรุษผู้โฉดชั่วนั้น เป็นคนพาล ไม่มีปัญญา สุมังคลเศรษฐีชี้ให้เห็นถึงโทษของการเที่ยวกลางคืน ว่าไม่ควรจะคบค้าด้วย เพราะเป็นเหตุให้ฉิบหาย แทนที่จะมีสติเกิดปัญญา ตำหนิติเตียนตนเองให้หยุดพฤติกรรมนั้นๆ กลับไปผูกโกรธ จองเวร แก่ผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ตักเตือน) จนในที่สุดพาตนตกเป็นทาสของอารมณ์ไม่เลือกหน้าพระหน้าพรหม ทำให้ต้องทุกข์ระทมเพราะการก่อกรรมชั่วของตน เมื่อพ้นจากนรกก็มาใช้เศษหนี้กรรมชั่ว ด้วยการมาเกิดเป็นเปรตงูเหลือมที่มีไฟเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา แม้จะเจ็บปวดปานใด ก็ไม่รู้จักตาย เพราะยังไม่หมดกรรมชั่ว

“ความทุกข์เดือดร้อนทั้งปวงนี้ มิมีใครเลือกสรรจัดหาให้ มีแต่ตนเป็นคนเลือกเอง” สงสารเอ๋ย…สงสารจริงๆ

เป็นส่วนหนึ่ง ของ พระเศรษฐี นวโกฏิ

Add Your Heading Text Here

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

Add Your Heading Text Here

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

Add Your Heading Text Here

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

Top