การปลูกฟักทอง

  • ฟักทอง ชื่อสามัญ Pumpkin
  • ฟักทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucurbita moschata Duchesne
    • จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
  • มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา และแพร่กระจายไปทั่วโลก

          ฟักทองอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลแตง เป็นผักสารพัดประโยชน์ มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงผิวพรรณและถนอมสายตา นำมาทำเป็นอาหารได้หลายชนิด ยอดอ่อนนำมาลวกจิ้มน้ำพริก ใส่แกงเลียง แกงส้ม เนื้อใช้ทำขนมคาวหวาน ทั้งผัด แกง และดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ด้านอาหารต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งเมล็ด

          เนื้อฟักทองมีกากใยมาก ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น ไม่อ้วนเพราะแคลอรี่ไม่สูง ปลูกง่าย แมลงไม่ค่อยทำลาย เมื่อเก็บผลแก่มาแล้วสามารถเก็บรักษาได้นาน และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความบอบช้ำจากการขนส่ง

          ฟักทองมีปลูกกันหลายจังหวัด แต่ที่ปลูกมากคือ ศรีสะเกษ สกลนคร ขอนแก่น กาญจนบุรี ชุมพร และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะทยอยกันให้ผลผลิตออกมาสู่ตลาด ทำให้มีขายตลอดทั้งปี

ลักษณะทั่วไป

  • ฟักทอง (Cucurbita mixta) เป็นพืชผักที่มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน เป็นไม้เถาอ่อน มีขนสากมือ
    มีหนวดสำหรับเกี่ยวพันทอดไปตามพื้นดิน จึงต้องการเนื้อที่ปลูกมากกว่าพืชผักอื่นๆ มีอายุปีเดียว
  • ให้ผลแล้วก็ตายไป
  • มีหลายพันธุ์ ทั้งแบบลำต้นเลื้อยและเป็นพุ่มเตี้ย พันธุ์เบา ผลเล็กมีอายุเก็บเกี่ยว 50 – 60 วัน พันธุ์หนัก 120 – 180 วันโดยทยอยเก็บผลได้หลายครั้งจนหมดผล ต้นหนึ่งๆ มี 4 – 5 ผล

ฟักทองแบ่งออกเป็น 2 ตระกูล

ตระกูลฟักทองอเมริกัน (Pumpkin)

ผลใหญ่ เนื้อยุ่ย

ตระกูลสควอช (Squash)
  • ได้แก่ ฟักทองไทยและฟักทองญี่ปุ่น
    • โดยฟักทองไทยนั้น ผิวของผลขณะยังอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสลับเขียว ผิวมีลักษณะขรุขระเล็กน้อย เปลือกจะแข็ง เนื้อด้านในเป็นสีเหลือง พร้อมด้วยเมล็ดสีขาวแบน ๆ ติดอยู่

การเตรียมดินปลูก

  • ฟักทองปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีการปลูกผัก แต่ชอบดินร่วนปนทรายที่อุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดีชอบดินเป็นกรดเล็กน้อย (pH5.5 – 6.8)
  • ชอบอากาศแห้ง ดินไม่แฉะน้ำไม่ขัง
  • การปลูกฟักทองคล้ายๆ กับการปลูกแตงโม ควรขุดไถดินลึก 25 – 30 เซนติเมตร เพราะเป็นพืชที่มีระบบรากลึก ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน
  • ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย แล้วย่อยพรวนดิน เก็บเศษวัชพืชต่างๆ ออกจากแปลงดินให้หมด

วิธีปลูก

  • ส่วนมากจะเริ่มปลูกในเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเดือนมีนาคมหรือหลังฤดูทำนา แต่สามารถปลูกได้ดีในปลายฤดูฝนและต้นฤดูหนาว
  • พันธุ์ที่มีลำต้นเลื่อยและให้ผลใหญ่ ใช้เนื้อที่ปลูกมาก ระยะปลูกคือ 3×3 เมตร ส่วนพันธุ์เบาให้ผลเล็ก ใช้ระยะปลูก 75×150 เซนติเมตร
  • ใช้วิธีหยอดเมล็ดหลุมละ 3 – 5 เมล็ด หลุมปลูกลึก 3 – 5 เซนติเมตร กลบหลุมแล้วควรใช้ฟางแห้งคลุมแปลงปลูกเพื่อรักษาความชื้น เมล็ดจะงอกและตั้งตัวได้เร็ว
    • การหยอดหลุมในแปลงจะได้ต้นกล้าที่แข็งแรง โตเร็วกว่าการย้ายกล้าจากถุงมาปลูก หากหลุมใดไม่งอก แม้จะนำมาปลูกซ่อมก็จะเจริญไม่ทัน แต่หากปล่อยไว้จะกินเนื้อที่ว่างมาก ควรปลูกซ่อมดีกว่า
  • เมื่อต้นกล้างอกมีใบจริงแล้ว 2 – 3 ใบ ควรถอนแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก เหลือต้นที่แข็งแรงไว้หลุมละ 2 ต้น รดน้ำทุกวัน
  • เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 4 ใบ ควรใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเซต ละลายน้ำแล้วรดต้น ระหว่างนี้อาจมีวัชพืชขึ้นรบกวน ควรถอนกำจัดพร้อมทั้งพรวนดินไปพร้อมกัน พอต้นฟักทองมีใบปกคลุมดินแล้ว ก็ไม่ต้องกำจัดวัชพืชอีก
  • ประมาณ 35 – 45 วัน ดอกเริ่มออก จึงใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 14-14-21 หรือ 13-13-27 โรยรอบๆ ต้นแล้วรดน้ำตามและใส่ปุ๋ยอีกครั้งเมื่อเริ่มติดผลอ่อน
  • ฟักทองพันธุ์หนักให้ผลโต อายุเก็บเกี่ยวนานกว่าพันธุ์เบา การใส่ปุ๋ยจึงต้องใส่ให้มากกว่าพันธุ์เบา
  • การดูแลรักษานอกจากนี้ อาจฉีดพ่นยากำจัดแมลงเป็นครั้งคราว ส่วนน้ำต้องรดให้ทุกวัน คะเนว่าอีก 15 วันจะเก็บผลจึงเลิกรดน้ำ
  • การเก็บเกี่ยว โดยมากถ้าไม่ปล่อยให้ติดผลเอง อาจช่วยผสมเกสร เพราะทำได้ง่าย ได้ผลดี
  • ขณะดอกกำลังบานให้เลือกดอกตัวผู้ เด็ดมาปลิดกลีบดอกออกให้หมด นำไปเคาะละอองเกสรให้ตกลงบนดอกตัวเมีย ถ้าติดจะให้ผลอ่อน ถ้าไม่ติดดอกตัวเมียจะฝ่อไป วิธีนี้เรียกว่า การต่อดอก
  • ฟักทองเป็นพืชผักที่ไม่ค่อยมีแมลงชอบทำลาย เมื่อผลแก่ก็เก็บเกี่ยวได้เลย ผลแก่ดูที่สีเปลือก สีจะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันทั้งผล ไม่แตกต่างกันมากนัก มีนวลขึ้นเต็มทั้งผลตั้งแต่ขั้วไปจนตลอดก้นผล แสดงว่าแก่จัด
  • การเก็บควรเหลือขั้วติดไว้ด้วย เพื่อช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้น สามารถรอขายหรือบริโภคได้นานๆ โดยไม่ต้องใส่ตู้เย็น
  • ผลผลิตจะทยอยเก็บได้ 5 – 6 ครั้ง เก็บได้เรื่อยๆ ต้นละ 5 – 7 ผล 1 ไร่ควรจะได้น้ำหนักรวม 1 – 1.5 ตัน

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “การปลูกฟักทอง” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบชอบบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ 

Top