0.00 ฿
What are you Looking for?
พริกมีคุณค่าทางอาหารมีสีและรสชาติที่ไม่อาจใช้ผลผลิตจากพืชอื่นๆ ทดแทนได้ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ตั้งแต่การใช้ประกอบเป็นอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร ส่วนประกอบของยารักษาโรคบางชนิด จึงมีพื้นที่เกษตรที่ใช้ปลูกพริกมากกว่า 60,000 ไร่ เป็นรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
ในการปลูก ปริมาณน้ำและวิธีการให้น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต การให้น้ำที่เหมาะสม จะทำให้ได้ผลผลิตที่มากและมีคุณภาพ การเตรียมดินและวิธีการให้น้ำจึงมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามสภาพของดิน
ในสภาพดินเหนียว เขตภาคกลาง พื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงจึงควรทำแปลงขนาดกว้างประมาณ 4-6 เมตร ความยาวตามสภาพพื้นที่ และมีร่องน้ำกว้างประมาณ 1 เมตร ลึกครึ่งเมตร ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เรือบรรทุกเครื่องสูบน้ำเข้าไปให้น้ำได้
ในเขตชลประทาน ให้คูส่งน้ำอยู่ทางด้านหัวแปลง และคูระบายน้ำอยู่ทางด้านท้ายแปลง แล้วปรับระดับน้ำระหว่างแปลงให้มีความลาดเทพอสมควรเพื่อความสะดวกในการให้น้ำ ขนาดของแปลงกว้าง 0.8 เมตร ร่องน้ำ 0.25 เมตร ความยาวประมาณ 20 เมตร
ในสภาพอาศัยน้ำฝน ต้องเลือกพื้นที่ระบายน้ำได้ดี กำหนดแถวปลูกให้แถวคู่ห่างกัน 1.20 เมตร ระยะระหว่างแถวห่างกันครึ่งเมตร ระหว่างต้นครึ่งเมตร
พริกไม่ต้องการน้ำมาก ดังนั้นก่อนให้น้ำควรตรวจดูดินบริเวณโคนต้นเพื่อสังเกตความชื้น ทั้งในดินร่วนปนทรายและดินเหนียว ถ้ามีความชื้นสูงเกินไปให้แก้ไขโดยการพรวนดิน ซึ่งจะช่วยให้น้ำระเหยออกจากดินได้ ส่วนกรณีที่ดินแห้งเกินไปและไม่อาจให้น้ำได้ ควรใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว เปลือกถั่ว ต้นถั่ว ซึ่งจะช่วยรักษาความชื้นในดินได้อย่างดี อีกทั้งเป็นการป้องกันวัชพืชไม่ให้ขึ้นรบกวนด้วย
แบ่งตามทรงพุ่มได้ 2 แบบดังนี้
นำเมล็ดพันธุ์มาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อกระตุ้นการงอกให้เร็วขึ้นและมีความสม่ำเสมอมากขึ้น จากนั้นนำไปล้างผ่านน้ำไหลอย่างน้อย 30 นาที แล้วนำไปคลุมในที่ร่มอีก 2-3 วัน เมื่อเกิดตุ่มรากสีขาวเล็กๆ จึงนำไปเพาะในกระบะ และรดน้ำให้ชุ่มเสมออย่าปล่อยให้แปลงแห้ง
การย้ายปลูกจะทำเมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 30 วัน หรือมีใบจริง 5 ใบ ก่อนย้ายปลูกควรงดให้น้ำเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง ควรย้ายกล้าในช่วงเวลาเย็น หลังย้ายกล้าแล้วต้องให้น้ำทันที และรดน้ำจนกว่าพริกจะตั้งตัวได้แม้จะปลูกหน้าฝน
ต้องดายหญ้าตั้งแต่เริ่มมีหญ้า อย่าปล่อยให้หญ้าโต หรือขณะที่วัชพืชยังเป็นต้นอ่อน เพราะต้นพริกที่โตเต็มที่ รากฝอยจะแผ่ออกไปหากินด้านข้างในรัศมีเกินกว่า 1 เมตร ตรงบริเวณผิวดินจะพบว่ามีรากฝอยของพริกสานกันอยู่อย่างหนาแน่น การกำจัดวัชพืชอาจจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากได้ ทำให้การเจริญเติบโตของต้นพริกชะงัก
จะใส่ปุ๋ยคอกในระยะเตรียมดินและใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หลังจากปลูกแล้ว 10-15 วัน ใส่ครั้งละ 1 ช้อนแกง โรยให้ห่างจากโคนต้น 1 ฟุต ใช้ดินกลบปุ๋ยเพื่อป้องกันการสูญเสียของปุ๋ย สำหรับระยะการใส่นั้นไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่เพื่อให้การใส่ปุ๋ยเกิดประโยชน์แก่พืชมากที่สุด จึงควรแบ่งใส่หลายๆ ครั้ง
พริกจะออกดอกหลังจากย้ายปลูกแล้ว 60-70 วัน โดยปกติมักจะพบว่าดอกเกิดเป็นดอกเดี่ยวที่ข้อตรงมุมที่เกิดใบหรือกึ่ง มักจะออกดอกและติดผลในสภาพที่มีช่วงวันสั้น ผลอ่อนมักชี้ขึ้น เมื่อเป็นผลแก่พันธุ์ที่มีลักษณะชั่วผลอ่อนจะให้ผลที่ห้อยลง เมื่อผลแก่สุกอาจเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นแดงหรือเหลืองพร้อมๆ กับการแก่ของเมล็ดในผลควบคู่กันไป ในระหว่างการเจริญเติบโตของผล หากอุณหภูมิในเวลากลางวันสูงและความชื้นในอากาศต่ำ จะทำให้ผลพริกมีรูปร่างบิดเบี้ยวและมีขนาดเล็ก และการติดเมล็ดต่ำกว่าปกติ
โดยทั่วๆไปจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลสุกได้เมื่ออายุ 90-100 วัน ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกๆ 5-7 วัน หรือเดือนละ 4-6 รุ่น ถ้ามีการบำรุงรักษาดีและให้น้ำอย่างเพียงพอ พริกอาจมีอายุถึง 1 ปี ในการเก็บพริกบางส่วนไว้สำหรับทำเมล็ดพันธุ์ปลูกรุ่นต่อไปต้องเลือกต้นที่ให้ผลดก ผลใหญ่ เก็บจากต้นที่สมบูรณ์ไม่เป็นโรค ควรเก็บในรุ่นที่ 2-5 เก็บเอาผลที่เริ่มสุกหรือสุกแดง ปราศจากโรคแมลงทำลายและรูปร่างต้องไม่ผิดปกติ
นี่ก็เป็นเรื่องราวเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “การปลูกพริก” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ถ้าสนใจเรื่อง “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm