0.00 ฿
หากจะพูดถึงต้นไม้ที่แปลกหรือประหาด ต้นไม้ที่หลายๆคนคิดคงไม่พ้นจำพวกพืชกินแมลง (carnivorous plant) บางคนอาจคิดว่าไม่มีอยู่จริง หรืออาจคิดว่าต้องอยู่ในป่าอเมซอนหรือป่าลึกลับ หลายคนคงไม่คิดว่าจะสามารถเจอได้ในประเทศไทย หรือเห็นขายในตลาดต้นไม้ทั่วไป และในป่าธรรมชาติของประเทศไทยก็มีพืชกินแมลงเช่น ‘หม้อข้าวหม้อแกงลิง’ ‘หยาดน้ำค้าง’ และพืชกินแมลงก็ไม่ได้เลี้ยงยากอย่างที่คิดบางพันธุ์เลี้ยงได้ง่ายมาก วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “พืชกินแมลง” กันก่อน ก่อนจะไปรู้จักกับพืชกินแมลงแต่ละชนิด
คำว่า carnivorous แปลว่า กินเนื้อ
แล้วทำไม จึงใช้คำว่า “Carnivorous plants” กับ พืชกินแมลง
พืชกินแมลงได้รับการค้นพบโดย ชาร์ลส์ ดาวิน (Charles Darwin) ในปีค.ศ.1875 โดยดาร์วินเรียกพืชเหล่านี้ว่า พืชกินแมลง (Insectivorous Plants) แต่หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษามากขึ้นจึงพบว่าเพราะจริงๆแล้วพืชชนิดนี้กินเนื้อกินสัตว์ได้ด้วย ซึ่งสัตว์ที่มักถูกกินได้แก่ กบ นก และ หนู ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงถือว่าพืชเหล่านี้เป็นกลุ่มของ พืชกินเนื้อ จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า Carnivorous Plants เพื่อให้มีความหมายที่ครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วโอกาสน้อยมากที่พืชเหล่านี้จะดักจับสัตว์กินได้ ดังนั้นเราก็ขอเรียก พืชกินแมลง ตามความคุ้นเคยของคนทั่วไปเพื่อให้ง่ายต่อการเล่าเรื่อง
ลักษณะของพืชกินแมลง
พืชกินแมลงมีลักษณะพิเศษคือ มีความสามารถในการล่อแมลง จับแมลง และ ลักษณะที่จะขาดไม่ได้คือ กินเหยื่อ หรือความหมายในเชิงวิทยาศาสตร์คือ สามารถย่อยและดูดซึมธาตุอาหารจากเหยื่อ เพื่อช่วยในการบำรุงต้นให้แข็งแรง และเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของต้นพืชเพื่อโอกาสในการอยู่รอด
มีพืชหลายชนิดที่สามารถดักจับ และฆ่าแมลงได้ แต่ไม่กิน(ไม่ดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อ) จึงไม่จัดว่าเป็นพืชกินแมลง
กุหลาบพันปีบางชนิดมีเมือกเหนียวบนใบ สามารถดักจับและฆ่าแมลงได้ แต่ไม่มีการกินเหยื่อ เป็นเพียงการป้องกันตัวจากแมลงศัตรูพืช
โรริดูลา (Roridula) พืชตระกูลกุหลาบป่า ก็เป็นพืชอีกชนิดที่สามารถดักจับและฆ่าแมลงขนาดเล็กได้ แต่ไม่กินเหยื่อ โดยเหยื่อจะติดกับใบที่ปกคลุมไปด้วยเมือกเหนียวเหมือนหยาดน้ำค้าง แต่เมือกเหนียวนี้ไม่สามารถดักจับมวนเพชฌฆาตได้ จึงทำให้มวนเพชฌฆาตสามารถเดินไปมา และคอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากแมลงที่ติดกับดักเป็นอาหาร และจากนั้นมวนเพชฌฆาตก็ขับของเสียที่อุดมด้วยสารอาหารให้ต้นโรริดูลาเป็นการตอบแทน เป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน
ทำไมต้องกินแมลง?
- เชื่อว่าที่รากของพืชกินแมลงทำงานได้แย่มาก จนไม่สามารถดูดซึมธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินได้เพียงพอกับความต้องการของมัน จึงต้องมีวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด โดยการจับกินแมลงเพื่อดูดกินสารอาหาร โดยมีเหตุผลรองรับว่า ในขณะที่พื้นที่เดียวกัน พืชชนิดอื่น ๆ สามารถเติบโตได้ แต่พืชกินแมลงจำเป็นต้องหาไนโตรเจนมากกว่าไม้ชนิดอื่น ๆ ในการเจริญเติบโต
- พืชกินแมลงหลายชนิดพบในพื้นที่ที่ชื้นแฉะและมีน้ำไหลเวียนพัดพาเอาธาตุอาหารออกไป ซึ่งอาจจะทำให้ดินที่ขาดแคลนธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต จึงต้องมีวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด โดยการจับกินแมลงเพื่อดูดกินสารอาหาร
ทำไมไม่กินอย่างอื่น?
หนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชคือ ไนโตรเจนซึ่งกรดอะมิโนสามารถสลายตัวให้ธาตุนี้ได้ และแมลงก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีกรดอะมิโนในรูปของโปรตีนอยู่มา
ไม่ต้องให้ปุ๋ย?
- ยังคงจำเป็นต้องให้ปุ๋ย และเปลี่ยนวัสดุปลูกในกระถาง
- สิ่งมีชีวิตทุกชนิด มีการเจริญเติบโต ย่อมต้องการอาหารเื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมร่างกาย พืชกินแมลงก็เช่นกัน
- แม้จะเป็นพืชกินแมลง แต่ก็ไม่ได้เดินหรือเคลื่อนย้ายตัวเองไปหาอาหารหรือล่าเหยื่อได้
- หากอยากให้พืชกินแมลงสวยหรือสมบูรณ์ ก็ต้องมีการบำรุงให้ปุ๋ยให้พอดีและเหมาะสม การปล่อยให้ต้นไม้อยู่ตามมีตามเกิด อาจไม่ได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ
กับดัก (Trap)
พืชกินแมลงมีส่วนของใบที่เปลี่ยนรูปเป็นกับดัก แบ่งเป็นกับดักที่ไม่เคลื่อนไหวและกับดักที่เคลื่อนไหวในการจับเหยื่อ โดยแบ่งย่อยได้ดังนี้
1. กับดักที่ไม่เคลื่อนไหว (Passive traps)
– กับดักแบบหลุมพราง (Pitfall traps, pitcher)
เป็นกับดักที่เกิดจากใบที่ม้วนงอ ภายในบรรจุด้วยเอนไซม์ย่อยอาหาร เมื่อเหยื่อถูกล่อด้วยกลิ่นน้ำหวานและสี แมลงจะพลัดตกลงไปในถุงและไม่สามารถขึ้นมาได้ ในที่สุดก็จมน้ำตายและถูกย่อยสลาย พืชกินแมลงที่มีกับดักชนิดนี้ ได้แก่ หม้อข้าวหม้อแกงลิง ซาราซิเนีย กระเป๋าจิงโจ้เป็นต้น
– กับดักแบบหม้อดักกุ้งมังกร (Lobster-pot traps)
เป็นกับดักที่บังคับเหยื่อให้เคลื่อนที่ไปยังส่วนย่อยอาหารจนกระทั่งหาทางออกไม่เจอ โดยจะมีขนแข็งภายในขัดขวางเรียงชี้ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อไม่ให้แมลงย้อนกลับออกมาทางเดิม และบังคับให้ต้องมุ่งเดินไปข้างหน้าอีกทางเดียวเท่านั้น พืชกินแมลงที่มีกับดักลักษณะนี้ได้แก่ ลิลลี่งูเห่า (Darlingtonia)
2. กับดักที่เคลื่อนไหว (Active traps)
– กับดักแบบตะครุบ (Snap traps)
เป็นกับดักแบบหุบเมื่อเกิดการสัมผัสจากแมลงหรือเหยื่อ พบในพืชชนิดกาบหอยแครง
– กับดักแบบถุง (Bladder traps)
เป็นกับดักของพืชกินแมลงที่อยู่ในน้ำหรือพื้นที่ชื้นแฉะ กับดักนี้จะดูดเหยื่อด้วยถุงสุญญากาศ โดยการสูบอากาศออกจนเกิดภาวะสุญญากาศภายในผ่านรูเล็กๆ เมื่อมีสัตว์เดินผ่านถุงดังกล่าวปากถุงจะเปิดออกและดูดซับนั้นเข้าไปภายในถุงอย่างรวดเร็ว พบในสกุล Utricularia
นี่ก็เป็นเรื่องราวของ “พืชกินแมลง” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ทุกคนได้รู้จักกันครับ สำหรับใครที่อยากลองเลี้ยงพืชกินแมลง เราแนะนำให้เริ่มจาก ‘หม้อข้าวหม้อแกงลิง’ ก่อนเลย หาง่ายและเลี้ยงไม่ยาก สำหรับตอนหน้าเราจะมีเรื่องอะไรมาเล่า อย่าลืมกด Like กดติดตามเพจ “นิทานบ้านไร่ bokujou” วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ