การปลูกขิง

          ขิงเป็นพืชพื้นเมืองที่คนส่วนใหญ่รู้จักมานานแล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากจะใช้เป็นเครื่องเทศ ยา รักษาโรคแล้ว ยังใช้ในการประกอบอาหาร เครื่องดื่ม โดยนำมาทำเป็นขิงดอง ชิงแช่อิ่ม น้ำขิง ขิงแห้ง และขิงผง

  • ขิงเป็นพืชล้มลุกในเขตร้อน
  • มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ginger
  • อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae
  • มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Zingiber officinale
  • มีลักษณะขึ้นเป็นกอคล้ายขมิ้นหรือข่า
  • ลำต้นกลมโตขนาดนิ้วมือ
  • ใบยาวเรียว
  • ออกดอกระหว่างใบ
  • ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า (rhizome) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แง่งขิง”
  • เป็นพวกลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นข้อๆ เป็นลำต้นสะสมอาหารและแตกแขนงอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายนิ้วมือ
  • ใบจะแตกจากตาของลำต้นใต้ดินขึ้นสู่อากาศ โดยมีก้านใบห่อกลมขึ้นเป็นหน่อแบบเดียวกับกล้วย ซึ่งส่วนนี้ เรียกว่าลำต้น มีความสูงประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกขิง

          ขิงเป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย มีอินทรีย์วัตถุและอาหารพืชในปริมาณสูง ต้องการความชื้นสูง ดินมีการระบายน้ำดี ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ประมาณ 6 – 6.5 ไม่ชอบดินเหนียวหรือทรายเกินไป ต้องการอุณหภูมิสูงในช่วงของการเจริญเติบโต
         
ก่อนฤดูปลูกขิงต้องการความแห้งสำหรับการพักตัว เมื่อขิงแก่แล้วถ้าหากว่าไม่ได้รับน้ำหรือความชุ่มชื้นเพียงพอใบขิงจะหลุดหมดกอ เหลือแต่เหงาในดิน แต่ถ้าหากว่ามีน้ำสมบูรณ์ขิงก็จะยังเจริญเติบโตต่อไปโดยไม่ทิ้งใบ แหล่งที่ปลูกยิงได้ผลดีจะต้องมีปริมาณน้ำฝน 80 – 100 นิ้วต่อปี ปลูกได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงระดับสูง 4,000 – 5,000 ฟุต

พันธุ์ขิง เท่าที่พบทั่วไปจำแนกออกได้เป็น 2 พันธุ์ คือ

1. ขิงเล็ก หรือขิงเผ็ด

มีลักษณะข้อถี่ แง่งขิงไม่ค่อยใหญ่ เบียดกันชิดมาก เนื้อมีเสี้ยนมาก รสชาติค่อนข้างเผ็ด มักใช้เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรค ตุ่มตาที่เหง้าจะมีลักษณะแหลม ปลายใบแหลม การแตกขยายของเหง้าบางชนิดมีสีแดงเรื่อๆ ที่ตุ่มตา

2. ขิงหยวกหรือขิงใหญ่

 มีลักษณะข้อห่าง เนื้อละเอียด ไม่มีเสี้ยน รสเผ็ดน้อย ตุ่มตามีลักษณะกลมมน ปลายใบมนกว่าขิงเล็ก ขนาดของเหง้าใหญ่ สีขาวอมเหลืองจางกว่าและมีความสูงมากกว่าขิงเล็ก เป็นพันธุ์ที่ใช้ปลูกกันอยู่ทั่วไป

การเตรียมดินปลูก

          เนื่องจากขิงเป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทรายมีอินทรีย์วัตถุในปริมาณสูง ความชุ่มชื้นสูงแต่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ ดินต้องมีการระบายน้ำดี ฉะนั้นจึงต้องมีการเตรียมดินอย่างดี โดยทำการไถดินอย่างน้อย 3 – 4 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการไถบุกเบิกเพื่อปรับระดับดินให้สม่ำเสมอ ครั้งที่ 2 เป็นการไถดะ ครั้งที่ 3 เป็นการไถแปร และครั้งสุดท้ายเป็นไถพรวนยกร่อง ทั้งนี้เพื่อทำให้ดินร่วนซุยเป็นการกำจัดวัชพืชและตากดินไว้นานๆ เพื่อให้หญ้าที่ถูกกลบเน่าเปื่อย ร่องที่ยกขึ้นความสูง 15 – 25 เซนติเมตร ใช้สำหรับปลูก ระยะห่างระหว่างสันร่อง 50 – 70 เซนติเมตร

การเตรียมพันธุ์ปลูก

          ขิงที่ใช้ปลูกและนำมาขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป เป็นขิงหยวก หรือขิงใหญ่ พันธุ์ขิงที่จะใช้ปลูกได้หรือเป็นแม่ขิงนั้นจะต้องมีอายุ 10 – 12 เดือน ก่อนจะนำไปปลูกจะต้องผึ่งพันธุ์ขิงไว้ในที่ร่มแห้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผึ่งไว้ประมาณ 4 – 6 อาทิตย์ เพื่อเป็นการพักตัวของตุ่มตา ซึ่งเป็นช่วงที่จะต้องรอฝนพอดี เมื่อขิงได้พักตัวแล้วตุ่มตาก็พร้อมที่จะงอก ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะใช้พันธุ์ขิงประมาณ 400 – 500 กก.
          ก่อนปลูกจะต้องตัดแง่งขิงเป็นท่อนๆ ให้แต่ละท่อนมีตาประมาณ 2 – 3 ตา ซึ่งจะได้ท่อนพันธุ์ยาวประมาณ 2 นิ้ว แล้วนำไปแช่น้ำยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่นไดโฟลาแทน 80 ในอัตรา 2 – 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปิ๊บ หรือใช้เบนเลท 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปิ๊บ หรือแมนแซท-ดี ในอัตรา 2 – 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปิ๊บ แช่ไว้ประมาณ 10 นาที เพื่อกำจัดหรือป้องกันเชื้อราที่ทำให้เกิดโรครากเน่า ซึ่งมักจะทำความเสียหายให้แก่แง่งขิงหลังปลูกแล้ว น้ำยาที่ละลายครั้งหนึ่งใช้แช่ท่อนพันธุ์ได้หลายครั้ง แต่ถ้าน้ำยาเจือจางลงก็เตรียมขึ้นใหม่ผสมลงไปอีก

ฤดูปลูก

  1. การปลูกนอกฤดู ปลูกในราวเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ การปลูกแบบนี้มักจะปลูกเพื่อเก็บขายเป็นขิงอ่อน ซึ่งจะอยู่ในระยะเวลาที่ขิงมีราคาแพง คือประมาณเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ขิงที่ปลูกในฤดูนี้ต้องการดินที่มีความชื้นดี หรือในแถบที่มีการชลประทานช่วย จะคอยพึ่งน้ำฝนไม่ได้
  2. การปลูกในฤดู ปลูกในราวเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ขิงจะสามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่จำเป็นจะต้องให้น้ำเลย อาศัยน้ำฝนก็พอเพียงแล้ว หรือจะมีให้บ้างก็ในระยะแรกๆ เท่านั้น จะสามารถเก็บขิงอ่อนเมื่ออายุ 4 – 6 เดือน ประมาณเดือนกันยายน – ตุลาคม หรือเก็บเป็นขิงแก่เมื่ออายุ 10 – 12 เดือน (มกราคม – กุมภาพันธ์)

วิธีปลูก

          ปลูกเป็นจำนวนไม่มากนักมักจะนำท่อนพันธุ์ที่ตัดเป็นท่อนๆ นั้นไปชำเสียก่อนในที่ร่มแสงแดดส่องไม่ถึง การชำอาจจะชำในทรายที่ชื้นพอประมาณ คอยรดน้ำให้ชื่นอยู่เสมอ หรืออาจจะชำโดยวิธีกองท่อนขิงบนกระสอบพอโปร่งๆ ให้อากาศระบายเข้าออกได้สะดวกแล้วใช้ฟางคลุม รดน้ำให้ชื่นแล้วลอกเลนโปะทับลงไป หรือจะใช้กระสอบคลุมทับแทนฟางก็ได้ โดยพรมน้ำกองขิงให้ทั่วแต่อย่าให้แฉะขิงจะเน่าได้ ใช้กระสอบชุบน้ำคลุมไว้อีกทีหนึ่ง คอยดูแลรักษาให้กระสอบชื้นอยู่เสมอ ประมาณ 3 – 4 อาทิตย์แง่งขิงจะแตกหน่อพอที่จะย้ายลงปลูกในแปลงได้
          หรืออีกวิธีหนึ่งสำหรับการปลูกเป็นจำนวนมาก นำท่อนพันธุ์ไปปลูกในแปลงโดยตรง ขุดดินในร่องให้เป็นหลุมๆ วางท่อนพันธุ์ ถ้าเป็นท่อนพันธุ์ที่ชำงอกแล้วให้วางด้านที่แตกหน่อตั้งขึ้นหลุมละ 1 ท่อน แล้วกลบดินให้มิดหนาประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร ใช้ระยะระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร ถ้าเป็นดินเหนียวต้องระวังอย่าปลูกให้ลึกเกินไปเพราะจะทำให้แตกกอน้อย ปลูกเสร็จแล้วใช้หญ้าคาหรือใบอ้อย คลุมตลอดทั้งในร่องและสันร่องตลอดทั้งไร่ให้หนาสม่ำเสมอกันเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันหญ้าขึ้น รวมทั้งป้องกันไม่ให้หน่ออ่อนได้รับอันตรายจากแสงแดด เมื่อขิงงอกได้ 3 ต้น หรืออายุประมาณ 2 เดือน ให้กลบโคนครั้งที่ 1 โดยใช้จอบโกยดินบนสันร่องกลบโคนต้นขิง และเมื่อขิงงอกได้ 5 ต้น หรือหลังจากกลบโคนครั้งที่แรกไปแล้ว 1 เดือน ก็กลบโคนอีกครั้งหนึ่ง การกลบโคนก็ทำไปพร้อมกับการกำจัดวัชพืชไปในตัวด้วย ถ้าจะปลูกขายเป็นขิงอ่อนให้กลบโคนครั้งแรกให้สูงๆ และกลบเพียงครั้งเดียว การกลบโคนจะทำให้ขิงแตกหน่อดี แง่งขิงมีความสมบูรณ์

เป็นที่สังเกตว่า
การปลูกขิงในที่เดียวซ้ำกันหลายปี จะทำให้เป็นโรคโคนเน่าหมดทั้งแปลงได้
ควรปลูกพืชอื่นอย่างน้อย 2-3 พืช เช่น พืชตระกูลถั่ว แล้วจึงกลับมาปลูกขิงใหม่

การใส่ปุ๋ย

          การใส่ปุ๋ย การปลูกขิงควรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์พวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดให้มาก โดยการใส่ในขณะเตรียมดินครั้งหนึ่ง และใส่หลังจากปลูกอีก 2 – 3 ครั้ง รวมแล้วในอัตรา 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมีนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้หรือใช้แต่น้อยเพราะมีแนวโน้มจะทำให้เกิดโรคโคนเน่ากับขิงได้ง่าย จะใช้บ้างก็ตอนกลบโคนครั้งแรกเพื่อกระตุ้นให้ขิงงาม แต่ในกรณีที่ปลูกขิงเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถหาปุ๋ยคอกได้ก็จำเป็นต้องพึ่งปุ๋ยเคมี สำหรับดินร่วนปนทรายส่วนมากใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 – 3 ครั้ง ครั้งแรกใส่ก่อนปลูกอย่าให้ปุ๋ยสัมผัสกับแง่งขิงโดยตรง ใช้ดินกลบปุ๋ยก่อนแล้วจึงปลูก ครั้งที่ 2 และ 3 ใส่ตอนกลบโคน สำหรับการปลูกเพื่อเก็บขิงอ่อนนั้นจะใส่ปุ๋ยเพียง 2 ครั้ง อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

การกำจัดวัชพืช

          ถ้ามีการเตรียมดินดี มีการกลบหญ้าคา หลังจากปลูกหนาสม่ำเสมอเพียงพอ ในระยะ 2 – 3 เดือนแรกวัชพืชจะยังไม่เจริญงอกงาม จะมีบ้างเพียงประปรายเท่านั้น สิ่งที่ควรระวัง คือ โรคเน่า ซึ่งจะเป็นกับแง่งขิงใต้ดินได้ทุกระยะ โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำขังแฉะ อาการสังเกตได้ คือ ใบจะเที่ยว สีเหลืองและลู่ลงด้านหลังใบ ใบม้วนกลม ในระยะแรกจะสังเกตเห็นได้ว่าในช่วงเวลาบ่ายใบต้นที่เป็นโรคยังคงเหี่ยว ถ้าไม่เป็นโรคใบจะแผ่ออก หลังจากนั้นใบจะเริ่มหลุด ต้นหลุดจากแง่ง ภายในเนื้อขิงจะช้ำ และมีกลิ่นเหม็น ถ้าเป็นแล้วจะเกิดลุกลามไปทั้งไร่ได้

การเก็บเกี่ยว

          ขิงอ่อนเก็บเมื่ออายุได้ 4 – 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะที่ขิงมีเสี้ยนน้อย เหมาะสำหรับใช้รับประทาน ส่วนขิงแก่นั้นเก็บเมื่อมีอายุ 10 – 12 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาขิงในตลาดระยะนั้น ถ้าในระยะที่อายุ 4 – 6 เดือนขิงอ่อนมีราคาสูง ก็ขุดขายกันเป็นขิงอ่อน แต่ถ้าราคาต่ำก็จะปล่อยไว้เป็นขิงแก่
          ในการเก็บใช้ถอนขึ้นด้วยมือเป็นกอๆ ไม่ใช้เครื่องมือเพราะจะทำให้แง่งขิงหักเสียหาย และมักจะเก็บเกี่ยวหลังจากฝนตกแล้ว พอดินเริ่มแห้ง ซึ่งจะทำให้ถอนได้ง่าย ดินติดน้อย ล้างได้ง่ายขึ้น ผลผลิตที่ได้ถ้าเป็นขิงอ่อนจะได้ประมาณ 4,500 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าเก็บไว้เป็นขิงแก่จะได้ประมาณ 8,000 กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตนี้ขึ้นอยู่กับระยะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งโรคแมลงศัตรูพืชไม่รบกวนด้วย

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “การปลูกขิง” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ

Top