การปลูกกระเจี๊ยบเขียว

          กระเจี๊ยบเขียวนอกจากจะปลูกกินปลูกขายในเมืองไทยแล้วยังเป็นผักส่งออกที่สำคัญ ตลาดใหญ่คือญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานกระเจี๊ยบเขียวมาก เนื่องจากบำรุงสุขภาพ นิยมใช้ปรุงอาหารว่างที่รับประทานกับเครื่องดื่มและใช้ทำข้าวปั้นห่อสาหร่ายคนไทยเราก็ใช้กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักพื้นบ้านมานาน เพราะปลูกง่ายปลูกได้ตลอดปีและราคาไม่สูง
          กระเจี๊ยบเขียวมีคุณค่าทางอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมฝักมีลักษณะเป็นเมือก ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต บำรุงสมองลดอาการโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งปรากฏสรรพคุณในตำราแพทย์แผนโบราณและการแพทย์แผนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

พันธุ์

          กระเจี๊ยบเขียวมีพันธุ์ต่างๆ มากมาย แตกต่างทั้งความสูงของต้น ความยาวของฝักและสี พันธุ์พื้นเมืองเดิมจะมีเหลี่ยมมาก 7-10 เหลี่ยม แต่พันธุ์ที่ปลูกส่งออกจะต้องมี 5 เหลี่ยม ผิวฝักเป็นมันละเอียด มีสีเขียวเข้ม มีเส้นใยน้อย ลำต้นเตี้ย
          ถ้าไม่ตรงตามนี้จะไม่สมารถส่งออกได้ หรือไม่ได้มาตรฐานการปลูกส่งออกจะใช้พันธุ์ใด ขึ้นอยู่กับผู้ส่งออกกำหนด พันธุ์ที่ปลูกในปัจจุบันมีดังนี้

  1. พันธุ์ลูกผสม มีคุณสมบัติฝักอ่อนที่ตลาดญี่ปุ่นนิยมมาก เมล็ดพันธุ์นำเข้าจากญี่ปุ่น มีราคาแพง เช่น พันธุ์สตาร์ไรท์, เออรี่โฟว์ ลักษณะฝักเขียวเข้ม 5 เหลี่ยม ให้ผลผลิตสูง
  2. พันธุ์ไทย ฝักเขียวปานกลาง มี 5 เหลี่ยม ต้นแข็งแรง ผลผลิตสูง เช่น พันธุ์โอเค 5, พันธุ์ 01 และ 03 เมล็ดพันธุ์ราคาถูก
  3. พันธุ์ผสม ได้แก่พันธุ์ สปายน์เลส ฝักกลมป้อม และพันธุ์วอร์ฟกรีน ฝักเรียวยาว มี 5 เหลี่ยม สีเขียวปานกลาง นิยมใช้แปรรูปบรรจุกระป๋อง

ดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

          ผักชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนและกึ่งร้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 18-35 องศาเซลเซียส จึงเป็นผักที่ปลูกได้ตลอดปีในประเทศไทย แต่การปลูกส่งออกควรปลูกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคมเท่านั้น เนื่องจากตลาดหลักคือญี่ปุ่นไม่สามารถปลูกได้ในช่วงนี้
          โดยมากจะหยอดเมล็ดราวเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เพื่อเก็บเกี่ยวประมาณพฤศจิกายน

การเตรียมแปลงและการปลูก

          กระเจี๊ยบเขียวเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดี ไม่ชอบดินน้ำขังแฉะหรือขึ้นมากเกินไปและเป็นกรดจัด พีเอชควรอยู่ระหว่าง 6-6.8
          การเตรียมดินมีความสำคัญมาก เนื่องจากระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตนานถึง 6 เดือน ดินปลูกต้องพรวนลึก ใส่อินทรียวัตถุและควรใส่ปูนขาวปรับความเป็นกรดด่างให้เหมาะสม
          ในที่ลุ่มแปลงปลูกควรยกร่อง ที่ไร่ยกร่องกว้าง 75 เซนติเมตร (ให้น้ำแบบร่อง) ปรับร่องให้เสมอเพื่อน้ำจะได้เข้าแปลงได้ดีหลุมปลูกควรอยู่ต่ำกว่าขอบแปลงประมาณ 1 คืบ ปลูกแถวคู่ ระหว่างต้นและแถว 50x50 เซนติเมตร 12 ชั่วโมง แล้วมาผึ่งให้แห้งพอหมาด คลุกด้วยสารเคมีพวก เบนโนมิล อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือไทอะเบนดาโซน 120 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม

การให้น้ำ

          กระเจี๊ยบเขียวชอบความชื้นปานกลาง ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้แห้งโดยเฉพาะในขณะเกิดดอกและติดฝัก การให้น้ำเพื่อให้การเจริญเติบโตของต้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผักมีคุณภาพดี ถ้าขาดน้ำผลผลิตจะต่ำ ฝักเล็กคดงอไม่ได้คุณภาพ

การใส่ปุ๋ย

          เนื่องจากระยะเวลาในการปลูกยาวนานมาก จึงต้องใส่ปุ๋ยให้เพียงพอ จะทำให้ฝักดกและมีคุณภาพดี พื้นที่ใดดินดีอยู่แล้วควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงเพราะจะทำให้เฝือใบ ฝักโตเร็วเกินไป เป็นโรคซ้ำง่าย ปุ๋ยไนโตรเจนสูงอาจใช้ช่วงแรกก่อนติดฝัก และหลังจากตัดต้นเพื่อเร่งการแตกกิ่งแขนง
          อัตราใส่ปุ๋ยโดยปกติ 20 วันต่อครั้ง ปริมาณปุ๋ย 10-25 กิโลกรัมต่อไร่ต่อครั้ง

การเก็บเกี่ยว

          เนื่องจากเป็นผักที่โตเร็ว เมื่ออายุได้ 30-40 วันต้นจะเริ่มสร้างดอกขึ้นที่บริเวณชอกใบ โดยดอกจะเริ่มเกิดในตำแหน่งข้อที่ 6-8 ของลำต้น หลังดอกบาน 5 วันฝักก็จะยาว 6-10 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ ฝักในช่วงนี้จะมีคุณภาพดีที่สุดมีเส้นใยน้อย ไม่มีเสี้ยน ฝักที่เกิดจากลำต้นประธานจะมีคุณภาพดีกว่าฝักจากกิ่งแขนง
          ฝักกระเจี๊ยบโตเร็วมาก โดยเฉพาะถ้าอากาศร้อนจะโตวันละ2-3 เซนติเมตร จึงต้องเก็บทุกวัน ไม่ปล่อยให้ฝักที่สามารถตัดได้หลงเหลืออยู่บนต้น ฝักจะยาวเกินขนาดที่ต้องการ
          การตัดผักใช้มีดเล็กหรือกรรไกรที่คม ป้องกันฝักช้ำ ควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันขนที่ระคายเคืองผิวหนัง การตัดฝักควรทำในเวลาเช้า ตัดที่ละฝัก การตัดขั้วต้องตัดให้ตรง มีก้านติดไม่เกิน 1 เชนติเมตร และอย่าให้เป็นปากฉลาม ซึ่งจะขีดข่วนฝักอื่นเสียหาย
          ฝักสดที่เก็บได้ควรรีบนำเข้าร่มทันที ภาชนะบรรจุควรมีรูระบายอากาศโดยรอบ บรรจุไม่เกิน 12 กิโลกรัม ไม่ควรใช้น้ำพรมหรือรดฝักหลังเก็บเกี่ยว ผักที่เก็บเกี่ยวได้ไม่ต้องทำการคัดเกรดให้รีบนำส่งจุดรับซื้อโดยเร็ว ถ้าคัดเกรดหลายครั้งจะบอบช้ำมีตำหนิ
          โดยมากจะสามารถเก็บฝักที่มีคุณภาพดีได้ 1 เดือนครึ่งถึง 2เดือน ฝักที่แตกยอดจะเริ่มหมด สังเกตว่ามีกิ่งแขนงออกจากต้น 2-3 กิ่ง ควรตัดต้นทิ้ง เพื่อให้แตกแขนงใหม่ซึ่งสามารถเก็บฝักได้อีก 2-3 เดือน
          ในแปลงกระเจี๊ยบเขียวที่ใบเจริญเติบโต ใบมากเกินไปทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงฝักด้านล่าง ฝักจะซีด ควรตัดใบทิ้งบ้างเพื่อให้ต้นโปร่ง การตัดใบทำได้ระหว่างเก็บเกี่ยว ให้ตัดใบทิ้งทีละใบพร้อมๆ กับการตัดฝักทุกครั้ง จนกระทั่งเหลือใบใต้บริเวณที่จะติดฝักไว้ต้นละ 2-3 ใบ อย่างไรก็ตาม การเด็ดใบมากเกินไปอาจมีผลเสียทำให้ฝักพองโต การเด็ดใบจึงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “การปลูกกระเจี๊ยบเขียว” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ

Top