การปลูกกระเทียม

          อาหารของคนไทยเกือบทุกชนิดมักจะมีกระเทียมเป็นส่วนประกอบอยู่เสมกระเทียมช่วยปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหารให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เป็นพืชผักที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกครัวเรือน

          ในส่วนของเกษตรกร กระเทียมเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับผักอื่นๆ และเป็นพืชเสริมที่ทำรายได้หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเป็นที่นิยมปลูกกันมาก โดยเฉพาะทางภาคเหนือ

ชื่อวิทยาศาสตร์    Allium sativum L.
ชื่อพ้อง    Languas galanga (Linn.) Stuntz.
ชื่อวงศ์    ALLIACEAE
ชื่อสามัญ    Galic

ลักษณะ

  • ไม้ล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดิน
    • แต่ละหัวประกอบด้วยกลีบหลายกลีบเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ แต่ละกลีบจะมีเปลือกหรือกาบสีขาวหรือม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 2 – 4 ชั้นโดยรอบ ลอกออกได้และสามารถแยกออกจากหัวเป็นอิสระได้
    • บางพันธุ์แต่ละหัวมีเพียงกลีบเดียว เรียกว่า กระเทียมโทน
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว
    • ลักษณะใบรูปขอบขนาน แบนและแคบยาว ปลายใบแหลม โคนของใบแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันหุ้มรอบใบอ่อนกว่าด้านใน ลักษณะคล้ายลำต้นเทียม ขอบใบเรียบ ท้องใบมีรอยพับเป็นสันตลอดความยาว ใบมีสีเขียวแก่
  • ดอก ออกดอกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว เล็ก ติดกันเป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อ มีลักษณะกลม ประกอบด้วยดอกหลายดอก มีกาบหุ้มเป็นจะงอยยาว กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปร่างยาวแหลม สีขาวแต้มสีม่วงหรือขาวอมชมพู
  • ผลขนาดเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู
  • เมล็ด เมล็ดเล็ก สีดำ สามารถขยายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับกลีบกระเทียม ซึ่งการปลูกกระเทียมในประเทศไม่ค่อยออกดอกหรือติดผลหรือเมล็ด

พันธุ์ - กระเทียมที่ปลูกในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ และมีการจำแนกพันธุ์ได้หลายวิธี

    1. จำแนกโดยอาศัยอายุการเก็บเกี่ยว แบ่งออกเป็นพันธุ์เบา มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น 7-90 วัน, พันธุ์กลาง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบัน มีอายุเก็บเกี่ยว 100-120 วัน และพันธุ์หนัก ส่วนใหญ่เป็นกระเทียมจากต่างประเทศ มีอายุเก็บเกี่ยวนานกว่า 150 วันขึ้นไป
    2. การจำแนกพันธุ์ตมแหล่งที่มา เช่น กระเทียมจากประเทศใต้หวัน เรียกว่ากระทียมจีน กระเทียมพันธุ์กลางจากภาคเหนือ เรียกกระเทียมเชียงใหม่, จากภาคกลาง เรียกกระเทียมช้างพันธุ์, พันธุ์เบาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกพันธุ์ศรีสะเกษ
    3. จำแนกตามฤดูกาลปลูกและเก็บเกี่ยว นิยมใช้กับกระเทียมภาคเหนือที่มีการปลูก 2 รุ่นต่อปี กระเทียมดอเป็นกระเทียมรุ่นแรก หรือฤดูกาลปกติ, กระเทียมปี ปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวขณะที่ดินยังชื้นอยู่

วิธีปลูกกระเทียมสามารถทำได้ 2 วิธี

1. หว่าน
  • แกะกระเทียมออกเป็นกลีบๆ
  • หว่านลงในแปลง
  • คลุมด้วยฟางข้าว
  • รดน้ำตาม
2. การวางกลีบ
  • นำกระเทียมที่แกะเอากลีบแซ่น้ำไว้ 1 คืน
  • นำมาปลูกโดยขุดหลุมลึก 1 นิ้ว
  • หันกลีบด้านในขึ้น หรือฝังส่วนโคนของกลีบลงดิน
  • จากนั้นใช้หญ้าหรือฟางข้าวคลุมไว้

          สำหรับระยะปลูก ใช้ระยะระหว่างแถวและต้น 10-15 เซนติเมตร แตกต่างกันตามพันธุ์และระยะเวลาปลูก กระเทียมบางพันธุ์ เช่น พันธ์จีน ใบและต้นมีขนาดใหญ่ ระยะปลูกจึงห่างขึ้น กระเทียมพื้นเมืองที่ปลูกกันในจังหวัดศรีสะเกษต้นมีขนาดเล็ก ใบแคบเรียว ใช้ระยะปลูก 10x10 เซนติเมตร และถ้าปลูกก่อนฤดูก็ควรมีระยะปลูกห่างขึ้นเล็กน้อยเพราะมีระยะเวลาเจริญเติบโตนานกว่าปกติ

การให้น้ำ

          เนื่องจากกระเทียมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากในการเพาะปลูกดังกล่าวข้างต้น ในแปลงปลูกกระเทียมจึงต้องรักษาความชื้นให้เพียงพออยู่เสมอ แต่ไม่ถึงกับแฉะ คือ พอหมาดๆ และต้องใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมแปลงเพื่อป้องกันการสูญเสียโดยเมื่อหลังจากปลูก ความชื้นในดินเนื่องจากลมและแสงแดดแล้วจะต้องรดน้ำให้ชุ่ม ส่วนการรดน้ำครั้งต่อไปเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน ซึ่งต้องสังเกตว่าดินต้องไม่แห้งเกินไป ตามปกติจะรดประมาณ 3-4 วันต่อครั้ง จนกระทั่งกระเทียมอายุย่างเข้าเดือนที่สาม เริ่มให้น้ำน้อยลงเหลือประมาณ 10-14 วันต่อครั้งและเมื่อมีอายุมากกว่า 100 วัน ให้งดการรดน้ำ มิฉะนั้นจะทำให้กระเทียมออกดอกและเสียน้ำหนัก

การให้ปุ๋ย

          การให้ปุ๋ยแก่ต้นกระเทียมมี 2 ระยะ คือ ในช่วงเตรียมดินก่อนปลูก ควรใช้ปุ๋ยคอกประมาณ 1.600 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อทำให้ดินร่วน การงอกและการแตกกอได้ดีขึ้น ส่วนปุ๋ยเคมีนั้น ควรใช้เพียงเล็กน้อยและเป็นระยะๆ หลังจากกระเทียมงอกแล้วหรือในช่วงก่อนกระเทียมจะลงหัว 30 วัน

          เมื่อต้นกระเทียมมีความสูงประมาณ 7-10 เชนติเมตร ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 20-11-11 หรือ 16-11-14 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ปุ๋ยแล้วรีบรดน้ำตามให้ชุ่ม แต่ถ้าในช่วงนี้ใบกระเทียมไม่งาม ให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย 20 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดตามใบให้ทั่ว เมื่อกระเทียมเริ่มลงหัวหรือมีอายุประมาณ 40-50 วัน ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-11-11 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งใส่เพียงเล็กน้อยทุกๆ 7-10 วัน เมื่อกระเทียมมีอายุประมาณ 70-80 วัน ให้เพิ่มโปแตสเซียมและฟอสเฟตให้มากขึ้น โดยเปลี่ยนเป็นสูตร 15-15-15 อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งรวมแล้วในการปลูกกระเทียมจะใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมดประมาณ 150 กิโลกรัม

การเก็บเกี่ยว

          เนื่องจากกระเทียมมีหลายพันธุ์ และแต่ละพันธุ์มีอายุการเพาะปลูกแตกต่างกัน ซึ่งมีผลให้ระยะที่กระเทียมแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้แตกต่างกันไปด้วย กระเทียมแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้นั้น สังเกตได้จากใบจะเริ่มแห้ง นิยมเก็บเกี่ยวกระเทียมในช่วงนี้ เพราะถึงแม้ใบแห้งแต่ส่วนของต้นยังสุดเขียวและเหนียว ทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว เพราะส่วนมากจะใช้วิธีจับต้นถอนขึ้นมา นอกจากบริเวณที่ปลูกเป็นดินเหนียวมากจึงใช้เสียมขุด เมื่อถอนมาแล้วควรทิ้งไว้ในแปลงประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ดินที่ติดมากับหัวกระเทียมหลุดออกได้ง่าย จากนั้นนำไปมัดเป็นจุก ถ้ามีปริมาณมากก็วางเป็นกองเรียงเป็นชั้นๆ โดยเอาหัวกระเทียมออกและใช้ฟางคลุมไว้ก่อน จากนั้นจึงนำไปผึ่งแดดในลานหรือแผงไม้ไผ่ประมาณ 2-4 วัน โดยวางเรียงเป็นแถวให้หัวอยู่ใต้ใบเพื่อป้องกันมิให้หัวถูกแดดมากเกินไป จากนั้นนำมามัดเป็นฟอนๆ แขวนไว้ในร่มจนแห้ง เมื่อแห้งดีแล้วจึงนำมารวมเป็นกองหรือนำมามัดจุกใหม่ พร้อมทั้งตัดใบตัดราก และลอกเปลือกออกเพื่อจำหน่ายต่อไป

          ในช่วงนี้การเก็บกระเทียมไม่ควรเก็บไว้ในที่อับสิ้น เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย อายุการเก็บเกี่ยวกระเทียมจะยาวนานแค่ไหน นอกจากจะขึ้นอยู่กับสถานที่เก็บแล้ว การปลูกและดูแลรักษาในช่วงการปลูกก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย เช่น ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือให้น้ำมากเกินไป เพราะจะไปเร่งการเจริญเติบโตและมีน้ำในหัวมาก ทำให้กระเทียมแห้งฝ่อได้ง่าย มีเกษตรกรบางรายฉีดหรือให้น้ำแก่แปลงกระเทียมก่อนทำการเก็บเกี่ยวเพื่อให้กระเทียมมีน้ำหนักดี แต่จะเป็นปัญหาภายหลังเพราะความชื้นสูงและเน่าเสียได้ง่าย ตามปกติกระเทียมที่เก็บเกี่ยวแล้ว เมื่อเก็บไว้ประมาณ 2-3 เดือนน้ำหนักจะลดลงประมาณร้อยละ 30

          นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้เรื่อง “การปลูกกระเทียม” ที่นิทานบ้านไร่นำมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราพร้อมจะแบ่งปัน โดยเฉพาะการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” การเกษตรปลอดสารพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยทำเกษตร สามารถติดตามได้ที่ FANPAGE นิทานบ้านไร่ bokujou หรือขอคำปรึกษาการทำ “ภูมินิเวศเกษตร” ได้ที่ LINE: @bokujoufarm

ถ้าชอบชอบบทความ หรือสาระความรู้นี้มีประโยชน์
อย่าลืมแชร์ต่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ 

Top